Economics

‘นายกฯ’ มั่นใจ ‘โครงสร้างพื้นฐานไทย’ เชื่อมขนส่งสินค้า-เดินทาง ‘ไทย-ลาว-จีน’ ไร้รอยต่อ

โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” มั่นใจโครงสร้างพื้นฐานไทย พร้อมรองรับปริมาณสินค้า ที่ต้องการขนส่งข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมการขนส่งสินค้า และการเดินทาง ไทย-ลาว-จีน ไร้รอยต่อ พร้อมตั้งทีมบริหารจัดการความสมดุลระหว่างความต้องการกับการจัดหา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ 

วันนี้ (23 ม.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าเชื่อมต่อรถไฟไทย ลาว และจีน อย่างไร้รอยต่อ ทั้งการเดินทาง และขนส่งสินค้า ในระหว่างการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาโครงข่าย มั่นใจโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อม รองรับปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่งข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไทย ลาว และจีน

LAOS VIENTIANE CHINA RAILWAY 01 4

นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน ในลักษณะทีมประเทศไทย (Team Thailand) เพื่อบริหารจัดการสมดุลระหว่างปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่ง กับความสามารถรองรับของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ระหว่างความต้องการกับการจัดหา (demand-supply) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

หน่วยงานฝั่ง demand คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะที่ฝั่ง supply ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมวางแผนกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน

พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้า เพื่อกำกับ ติดตามเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ พร้อมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา มีมติ ดังนี้

1.รับทราบสถานะการค้าการขนส่งชายแดนจังหวัดหนองคายหลังจากรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการปัจจุบันมีการเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน และจากการขนส่งขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ มีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า แต่ยังมีปริมาณการขนส่งทางรถไฟไม่มากนักเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

2. รับทราบผลการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างไทย ลาวและจีน (วันที่ 19 พ.ย. 64) เห็นชอบการลงทุนร่วมกันในสะพานแห่งใหม่ ระหว่างไทยและลาวในอาณาเขตของตนเอง  รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาร่วมกันต่อไป

IMG 50794 20220123100416000000
ธนกร วังบุญคงชนะ

3. เห็นชอบแผนการดำเนินงานการเชื่อมโยง เช่น

  • โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ นครราชสีมา และหนองคาย
  • โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น หนองคาย
  • การพัฒนาสถานีหนองคาย โดยจะติดตั้ง MOBILE X-RAY สำหรับตรวจปล่อยสินค้าทางรถไฟในระยะเร่งด่วน ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ ที่สถานีนาทา โดยจะเสนอให้เอกชนร่วมทุนภายในปี 2565  รฟท. จะของบกลางเพื่อเร่งรัดการออกแบบรายละเอียดของสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ และก่อสร้างที่เกิดการเชื่อมโยงต่อไป
  • เห็นชอบหลักการการจัดทำกรอบข้อตกลงการขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน
  • มอบหมาย Team Thailand ลงพื้นที่ สำรวจรวบรวมข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน เพื่อศึกษาศักยภาพพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ในแต่ละสถานี และสร้างการรับรู้ให้แก่ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่อไป

นายธนกร ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบรางของไทย ในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค และประเทศไทยกับระหว่างประเทศ เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน และประชาชนได้ประโยชน์ทั้งการเดินทางและเศรษฐกิจ ตามวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo