Economics

ราคาพุ่ง พาณิชย์ เตือน! ระวัง ‘ทองปลอม’ แนะวิธีตรวจสอบก่อนซื้อ เผยปี 2566 ขายของปลอมพุ่งสูงกว่า 1.6 พันคดี

ราคาพุ่ง พาณิชย์ เตือน! ระวัง “ทองปลอม” แนะวิธีตรวจสอบก่อนซื้อ-อย่าซื้อออนไลน์ เผยปี 2566 หลอกขายของปลอมพุ่งสูงกว่า 1.6 พันคดี

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำกรมการค้าภายใน และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ( GIT )รวมถึงสำนักงานเลขาธิการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงพื้นที่เยาวราชเพื่อตรวจสอบการซื้อขายทองคำ เนื่องจากปัจจุบันราคาทองคำเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทองปลอม

ราคาพุ่งมิจฉาชีพหลอกขายทองปลอม

โดยปัจจุบันแตะบาทละกว่า 37,500 บาท จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ มิจฉาชีพ รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ บางแห่ง ใช้โอกาสนี้หลอกขาย “ทองคำปลอม” ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ทองเกรด A, ทองไมครอน, ทองโคลนนิ่ง, ทองยัดไส้ รวมถึงทองรูปพรรณ โดยมีการนำเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้ทองคำปลอมมีความใกล้เคียงกับทองคำจริงมากที่สุด และไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า

รวมถึงการใช้เครื่องมือตรวจสอบที่มีขนาดเล็ก ซึ่งกระทบร้านค้าที่รับซื้อทองคำ โรงรับจำนำ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความหวั่นวิตกในการเลือกซื้อทองคำ โดยเฉพาะทองคำแท่ง ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนการหลอกซื้อขาย“ทองคำปลอม” ทั้ง ทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ ในปี 2566 พุ่งสูงกว่า 1,600 คดี

ทองปลอม

ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อทองคำ จึงได้มอบหมาย ให้ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และทำการตรวจเช็คค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ ทั้ง ทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ เร่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อย่างเร่งด่วน ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพจาก GIT ให้แก่ผู้ที่สนใจ ก่อนซื้อ – ขาย

โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับความเชื่อมั่น อย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ย่านการค้าทองเยาวราช เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานทองคำ มาตรฐานเครื่องชั่งทองคำ รวมถึงฉลากสินค้าที่ถูกต้อง และ การติดราคาทองคำ ทองรูปพรรณ และค่ากำเหน็จอย่างชัดเจน โดยลงพื้นที่เยี่ยมร้านค้าทอง ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำ ในย่านเยาวราช เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน

ทองปลอม

มีวิธีการใหม่ๆ ทำปลอม-แนะวิธีสังเกตเบื้องต้น และตรวจสอบกับ GIT

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT  เสริมว่า โดยส่วนใหญ่ คนไทยซื้อทองเก็บสะสมเป็นสินทรัพย์ โดยเลือกซื้อทองคำในรูปแบบของ ทองรูปพรรณ และ ทองคำแท่ง กับร้านทองที่น่าเชื่อถือ

แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนเลือกซื้อทองคำต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะในปัจจุบัน มิจฉาชีพ มีวิธีการต่างๆ มากมายที่ใช้ในการหลอกลวงผู้บริโภค รวมถึงร้านค้าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ดังนั้นก่อนเลือกซื้อให้พิจารณา และสังเกตที่ทองคำ หรือทองรูปพรรณ ว่ามีตราสัญลักษณ์ร้านค้าที่เลือกซื้อหรือไม่ มีการประทับตัวเลขที่บอกมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ตอกไว้หรือไม่ เช่น Gold 965 และยังต้องสังเกตรายละเอียดต่างๆ รายรอบเพิ่มเติมด้วย อาทิ น้ำหนัก ขนาด และ รอยต่อต่างๆ

ทองปลอม

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบทองคำปลอม เหล่านี้ หากเป็นร้านขายทองคำ จะใช้การตะไบเข้าไปในเนื้อทองคำ เพื่อเช็คดูว่ามีการสอดไส้หรือไม่ แต่หากเป็นทองแท่งอาจจะมีการนำมาหุ้มหนาๆ การตะไบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งวิธีการนี้ ประชาชน และผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงห้องปฏิบัติการตรวจสอบขนาดเล็กที่อาจไม่มารถตรวจสอบได้

อีกทั้งปัจจุบันได้มีการนำธาตุใหม่ๆ เข้ามาผสมกับทองคำ เช่น ธาตุรีเนียม และทังสเตน ซึ่งไม่สามารถใช้เทคนิคพื้นฐาน เช่น หยดกรด การเผาไฟ หรือใช้เครื่องมือ X-Ray ขนาดเล็กตรวจวิเคราะห์ได้ ซึ่งหากต้องการผลการตรวจสอบที่แน่ชัด แนะนำให้นำมาตรวจสอบกับ GIT เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ที่มีเครื่องมือขั้นสูง ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นในกรณีนี้ สามารถตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอมด้วย คลื่นอัลตราโซนิค ซึ่งไม่ทำลายชิ้นงาน

ทองปลอม

จำหน่ายทองปลอม น้ำหนักไม่เต็ม มีโทษหนัก

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในส่วนของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจในการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการค้าทองคำต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีกราคาทองคำแท่งทองคำรูปพรรณและค่ากำเหน็จให้ชัดเจน  รวมทั้งยังกำหนดให้ร้านค้าทองต้องใช้เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากกรมการค้าภายในตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบราคาและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค

ซึ่งผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อทองคำทั้งในด้านราคาและปริมาณสินค้าหรือบริการสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศโดยจะมีการตรวจสอบให้ความเป็นธรรม และหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควรหรือมีการกักตุนสินค้า หรือปฏิเสธการจำหน่าย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีใช้เครื่องชั่งโดยไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมการค้าภายในมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีมีการดัดแปลงส่วนประกอบของเครื่องชั่งตรงวัดมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 280,000 บาท

การเลือกซื้อทองคำขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบที่มาของทองให้ดีโดยเฉพาะการซื้อขายผ่านออนไลน์ที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยแนะนำให้ซื้อร้านทองที่มีสถานที่ตั้งชัดเจนมีประกาศราคาทองคำขึ้นลงอย่างชัดเจน สัญลักษณ์ที่ต้องสังเกตทุกครั้ง คือ ป้ายสมาชิกสมาคมค้าทองคำ (ปีปัจจุบัน) ก็จะช่วยให้มั่นใจได้ในอีกระดับหนึ่งด้วย หรือร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC)” และหลีกเลี่ยง การซื้อทองคำ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง หรือทองคำรูปพรรณ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo