Finance

นักวิเคราะห์มอง ‘ราคาทองคำ’ แนวโน้มพุ่งยาว อานิสงส์ ‘แบงก์ชาติ’ แห่ซื้อมากเป็นประวัติการณ์

นักวิเคราะห์มอง “ราคาทองคำ” ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก หลังจากแตะระดับสูงสุดตลอดกาลเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่ง เดินหน้าซื้อทองคำในปริมาณมากเป็นประวัติการณ์

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ว่า การเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางหลายแห่ง ได้หนุนให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าก็ตาม

ราคาทองคำ

ปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น มีแนวโน้มจะลดความต้องการทองคำเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ เนื่องจากทองคำไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ขณะเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นนั้น จะทำให้ราคาทองคำที่ซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์ มีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือครองเงินตราสกุลอื่น ๆ ดังนั้น จึงบั่นทอนความต้องการ และกำลังซื้อในกลุ่มผู้ถือครองเงินตราสกุลอื่น ๆ

“ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ซึ่งเข้าซื้อทองคำในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ในปี 2567” นายฝาน เส้าข่าย หัวหน้าระดับโลกฝ่ายธนาคารกลางของสภาทองคำโลก (ดับเบิลยูจีซี) ระบุ

รายงาน บอกด้วยว่า อีกปัจจัยที่หนุนความต้องการทองคำจริง (Physical Gold) คือ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากทองคำได้รับการพิจารณาว่า เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และการเงิน

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียและจีนเป็นสองผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม มีธนาคารกลางหลายแห่งมากขึ้นที่เข้าซื้อทองคำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” นายอาคาช โดชิ หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ประจำอเมริกาเหนือ ซิตี้กรุ๊ป ระบุ

จีนเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น ทั้งในด้านความต้องการทองคำจากผู้บริโภค และการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางจีน ทั้งกระแสการซื้อทองคำของจีนยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง

ดับเบิลยูจีซี ระบุว่า ในกลุ่มธนาคารกลางทั่วโลก ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 โดยซื้อทองคำสุทธิมากถึง 224.88 ตัน ขณะเดียวกัน นักลงทุนจีนเข้าซื้อทองคำมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจจีนอ่อนแอและเกิดวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน โดยการลงทุนทองคำส่วนบุคคลของจีนยังคงแข็งแกร่ง

ราคาทองคำ

ขณะที่ธนาคารกลางโปแลนด์รั้งอันดับ 2 ในฐานะผู้ซื้อทองคำสุทธิมากที่สุดในโลกในปี 2566 โดยซื้อทองคำมากถึง 130.03 ตัน

นายแรนดี สมอลวูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทวีตัน พรีเชียส เมทัลส์ ระบุว่า ปัญหาจากสงครามระหว่างรัสเซีย กับยูเครนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ได้กดดันให้โปแลนด์เข้าซื้อทองคำเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ

ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า นายอดัม กัลพินสกี ผู้ว่าการธนาคารกลางโปแลนด์ได้ประกาศในปี 2564 ว่าจะซื้อทองคำ 100 ตัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินของโปแลนด์

ธนาคารกลางสิงคโปร์ ซื้อทองคำสุทธิสูงเป็นอันดับ 3 ในปี 2566 ที่ 76.51 ตัน โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ไม่ได้เปิดเผยเหตุผลสำหรับการเข้าลงทุนในทองคำดังกล่าว แต่นายฝานให้ข้อสรุปว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ส่วนธนาคารกลางที่ซื้อทองคำสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 4-10 ในปี 2566 ได้แก่ ลิเบีย สาธารณรัฐเช็ก อินเดีย อิรัก ฟิลิปปินส์ และคีร์กีซสถาน ตามลำดับ

การซื้อทองคำแบบปลีกมีส่วนช่วยให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งการซื้อทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง และทองคำเหรียญ โดยจีนมียอดซื้อทองคำแบบปลีกสูงที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา

“ในระดับผู้บริโภครายย่อย จีนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ทองคำมีความต้องการแข็งแกร่ง เนื่องจากประชาชนแห่เข้าซื้อทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์อื่น ๆ” นายฝานกล่าว

ราคาทองคำ

ข้อมูลจากดับเบิลยูจีซี ระบุว่า จีนเบียดอินเดียก้าวขึ้นสู่สถานะ ผู้ซื้อทองรูปพรรณรายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2566 โดยผู้บริโภคจีนซื้อทองรูปพรรณ 603 ตันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565

ดับเบิลยูจีซี ระบุว่า ส่วนในอินเดีย แม้ว่าความต้องการทองรูปพรรณจะยังคงเด่นชัด แต่ราคาที่แพงขึ้น อาจบั่นทอนความต้องการซื้อบางส่วน โดยความต้องการทองคำรูปพรรณของอินเดียลดลง 6% สู่ระดับ 562.3 ตันในปี 2566 จากปีก่อนหน้า

นอกจากจีนและอินเดียแล้ว ดับเบิลยูจีซี  ระบุว่า ความต้องการทองคำในปีที่ผ่านมาของตุรกี พุ่งสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัวจากเมื่อปี 2565

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo