Economics

‘รมช.คลัง’ แจงร่างกู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ยังไม่เสร็จ ลั่นไม่หนักใจ

“รมช.คลัง” แจงร่างกู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ยังไม่เสร็จ! ลั่นถ้าไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน แต่เชื่อว่าจะต้องทำให้กฎหมายผ่านให้ได้ ไม่หนักใจ!

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้มีการส่งให้กฤษฎีกาตีความแต่อย่างใด โดยตามไทม์ไลน์แล้วหลังจากกระทรวงการคลังร่างกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อย ต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความ หลังจากนั้นจึงส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นส่งให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ แล้วส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ

เงินดิจิทัล

ส่วนที่หลายฝ่ายระบุว่า การที่รัฐบาลเดินหน้าออก พ.ร.บ. ครั้งนี้ เพื่อให้โครงการไปไม่ได้ว่า ยืนยันว่าไม่มีใครคิดอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอยู่ในหัวอยู่แล้ว รัฐบาลมีหน้าที่เดินหน้าโครงการ คณะทำงานมีโจทย์ชัดเจนที่ได้รับมาจากรัฐบาล ก็มีหน้าที่ทำให้สำเร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ดี กระบวนการในการพัฒนาไปข้างหน้าหากดูจากปัจจัยในปัจจุบันคงไปไม่ถึง และจะเกิดปัญหาในอีก 4-5 ปีข้างหน้าในเรื่องการดูแลสวัสดิการประชาชน การจัดทำโครงสร้างงบประมาณ การรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะประเทศและรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เศรษฐกิจเติบโตไม่ทัน ถ้าปล่อยไปในลักษณะนี้

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายดังกล่าวอาจไม่ผ่านความเห็นชอบนั้น รมช.การคลัง ระบุว่า เข้าใจว่าเป็นมุมมองด้านกฎหมายที่มองกันคนละมุม รัฐบาลมีหน้าที่ทำ ก็ต้องเดินหน้าให้ไปสู่สภา ไปสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา หรือจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญยังไงก็ต้องไป รับบาลและคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีหน้าที่ชี้แจงและตอบประเด็นข้อสงสัยในมุมของรัฐบาล ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรอยากให้รอดู

เงินดิจิทัล

“เชื่อมั่นว่ามันจะเดินไปต่อไป เพราะการที่รัฐบาลเลือกออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงินนั้น มองแล้วว่าเป็นช่องทางที่ดีที่สุด และมีการรับฟังความเห็นมาเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จึงเปลี่ยนจากเดิมที่จะใช้งบประมาณปกติสำหรับดำเนินการ” รมช.คลัง กล่าว

นายจุลพันธ์ ระบุว่า ถ้าไม่ผ่าน ก็ไม่ผ่าน แต่เรายังเชื่อว่าเราจะต้องทำให้กฎหมายผ่านให้ได้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยอมรับความจริงคือ การใช้งบประมาณ โดยการยัดเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าไปในปีเดียวถือเป็นภาระที่สูง ทุกคนก็ต้องรู้สภาพอยู่แล้ว ส่วนการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) คือการที่่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจออกกฎหมายใช้ก่อนแล้วจึงไปขออนุมัติ ก็จะโดนอีกว่าวิธีนี้ไม่โปร่งใส จึงออกมาเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้ทุกฝ่ายคุยกัน หากมีคนไม่เห็นด้วยก็ลงมติไม่เห็นชอบ เป็นสิทธิของทุกคนในสภาและวุฒิสภาในการที่จะคิดที่จะทำ สุดท้ายถ้ามีคนไปยื่นตีความที่ไหนก็ตาม ทั้ง ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะตามไปชี้แจง

เงินดิจิทัล

สำหรับแนวทางการกู้เงินนั้น จะออกเป็นตราสารหนี้ปกติ เพราะเชื่อว่าสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอ จะไม่มีการกู้เงินมากองไว้ ซึ่งหลักการคือ เมื่อเริ่มโครงการและภายใน 6 เดือนมีการใช้จ่ายครั้งแรก หากมีร้านค้ามาขอนำเงินออก รัฐบาลจะใช้เงินคงคลังบริหารจัดการในส่วนนี้ไปก่อน ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการกู้เงินตามที่เกิดขึ้นจริง แต่รัฐบาลก็จะสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตหมุนอยู่ในระบบให้นานขึ้น หมุนไปเรื่อย ๆ ในระบบ 2-3 ปีตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ก็หมายความว่าอัตราการเติบโตทางเศรษบกิจจะเกิดขึ้นก่อน และหนี้สาธารณะจะดร็อปลงทันที แล้วจึงไปเกิดภาระหนี้สินทีหลัง ซึ่งรัฐบาลมองว่าหนี้สาธารณะน่าจะอยู่ในกรอบไม่เกินปัจจุบัน

“กลไกที่จะกระตุ้นส่วนแรกจะเกิดจากภาคเอกชน หลายคนรู้แล้วว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบ กลไกในการลดแลกแจกแถมก็จะเกิด เช่น มาซื้อด้วยดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1 หมื่นบาท ได้ของมูลค่า 1.1-1.2 หมื่นบาท ก็ทำได้ กลไกในภาครัฐเอง เรามีเครื่องมือทางการเงิน เช่น เรื่องภาษีเพื่อเป็นการจูงใจ ตรงนี้ยังเป็นเพียงการหารือ ยังไม่ได้มีการสรุป ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาท” นายจุลพันธ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK