Business

จับตา ‘ภาษีคาร์บอน’ สินค้านำเข้าของสหรัฐ เริ่มใช้ปี 69 แนะผู้ส่งออกไทย เร่งปรับตัว

จับตา ‘ภาษีคาร์บอน’ สินค้านำเข้าของสหรัฐ เริ่มใช้ปี 69 แนะผู้ส่งออกไทย เร่งปรับตัว เปลี่ยนกระบวนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่วุฒิสภาของสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามอง ร่างกฎหมายประกอบด้วย มาตรการกำหนดการกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: US-CBAM) สำหรับสินค้านำเข้า

ภาษีคาร์บอน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ผลิตและกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล

จ่ายภาษี ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกินกว่าค่าเฉลี่ย

ในปี 2024 (พ.ศ.2567) ผู้ผลิตสินค้าจากอุตสาหกรรมเป้าหมายในสหรัฐฯ ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ย จะต้องจ่ายภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกินกว่าค่าเฉลี่ย

โดยเกณฑ์ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมในประเทศ จะลดลงทุกปี ขณะที่อัตราภาษีปีแรกที่มีการจัดเก็บจะเท่ากับ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน ในปีถัดไปเพิ่มขึ้นตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปีบวกด้วยอัตรา 5%

ภาษีคาร์บอน

เก็บภาษีสินค้านำเข้า ปี 2026

สำหรับภาษีสินค้าที่นำเข้าในประเทศสหรัฐฯ จะเริ่มใช้ในปี 2026 (พ.ศ.2569) โดยจำแนกสินค้านำเข้าออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สินค้าตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ สินค้าสำเร็จรูปใช้วัตถุดิบตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนประกอบ

ทั้งนี้ การจำแนกสินค้า 2 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้

  1. สินค้าตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ
  2. สินค้าสำเร็จรูปใช้วัตถุดิบตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนประกอบ และมีน้ำหนักของวัตถุดิบเกินกว่าที่กำหนดตามเกณฑ์ จะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ

โดยในปี 2026 – 2027 กำหนดน้ำหนักไว้ที่ 500 ปอนด์ (ประมาณ 226 กิโลกรัม) และในปี 2028 เป็นต้นไป ปรับเกณฑ์น้ำหนักเป็น 100 ปอนด์ (ประมาณ 45 กิโลกรัม) โดยประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Least developed countries (LDCs) ตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) จะได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว

ภาษีคาร์บอน

แนะผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะนำว่า ในระยะสั้นผู้ส่งออกของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควรมีการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะต้องมีการรายงานเป็นประจำ สำหรับ EU-CBAM ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2023 และ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะที่ในระยะ ปานกลางและระยะยาว ผู้ประกอบการควรเร่งลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น มิฉะนั้นผู้ประกอบการจะเผชิญกับต้นทุนในการส่งออกสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

อ่านข่่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo