Environmental Sustainability

รมว. ทส. ขับเคลื่อนการทำงาน ‘สิ่งแวดล้อม’ สืบสาน ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

รมว. ทส. พร้อมขับเคลื่อนการทำงาน ‘ด้านสิ่งแวดล้อม’ สืบสาน ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งระดับประเทศ และระดับโลก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) กล่าวในงานการประชุมวิชาการ 47 ปี ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยระบุ เป็นโอกาสอันดีที่ สผ. จะได้นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิชาการ รวมทั้ง ผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ได้รับทราบ

ทส.

ผลงานโดดเด่น เป็นรูปธรรม

และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหัวใจสำคัญที่เราสามารถยึดมั่นปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้ โดยมีการดำเนินงานที่โดดเด่น ดังนี้

  • ร่าง แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด BCG มากำหนดเป็นแนวทาง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย SDG เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงอนุสัญญาต่างๆ
  • พลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero GHG Emission ภายในปี ค.ศ.2065 รวมถึงยกระดับเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 ในปี ค.ศ.2030
  • จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตทั้งในและระหว่างประเทศ
  • ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มเติมกลไกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนทางการเงิน และคาร์บอนเครดิต รวมถึงผลักดันร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
  • สนับสนุนแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ให้ อปท. ให้มีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย 93 ระบบ รองรับปริมาณน้ำเสีย 1,250,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระบบกำจัดขยะ 172 ระบบ รองรับปริมาณขยะ 12,000 ตันต่อวัน
  • จัดทำแผนผังภูมินิเวศ ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อวางแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับระบบนิเวศ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น
  • ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ โดยที่ผ่านมาได้มีการขึ้นทะเบียนย่านชุมชนเก่าไปแล้ว 613 ย่าน รวมถึงการเชื่อมโยงการขอสนับสนุนจากภาคเอกชนผ่าน application มรดกแพลตฟอร์ม

ทส.

  • กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้คุ้มครองและจัดการพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลาย ไปแล้ว 10 พื้นที่ 12 จังหวัด
  • จัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อเป็น Big Data ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมต่อข้อมูล จาก ๑๖ หน่วยงาน ใน ๕ กระทรวงหลัก เพื่อตอบโจทย์การจัดการเชิงพื้นที่
  • จัดฝึกอบรมเพื่อบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ให้กับ ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศ และนำร่องโครงการจังหวัดสู้ภัย Climate Change ไปแล้ว 10 จังหวัด รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด (Risk Map)
  • จัดทำดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (EPI) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อประเมินประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นรายปี ผ่านการบูรณาการข้อมูลจาก 21 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ ให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์
  • พัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เข้าสู่ระบบราชการ 4.0 เต็มรูปแบบ โดยยกระดับเป็น e-Service ได้แก่ e-Report e-Monitoring และ e-Licenseเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส

ทส.

  • งานด้านเครือข่าย ตลอด 30 ปี กองทุนสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 1,698 โครงการ เป็นเงินกว่า หนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า 11 ล้านคน สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อนุรักษ์และป้องกันป่า ได้กว่า ๒ ล้านไร่ และได้ยกระดับพัฒนาชุดโครงการ ชิงเก็บ ลดเผา สนับสนุน 47 ทสม. 16 จังหวัด เพื่อตอบสนองการแก้ไขวิกฤติเร่งด่วนเรื่องหมอกควัน รวมถึงชุดโครงการ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ 95 แห่ง 55 จังหวัด
  • จัดทำกรอบท่าทีการเจรจา และเข้าร่วมประชุม COP 26 และปรับปรุง LTS และ NDC เพื่อเสนอต่อ UNFCCC ก่อน COP27 และวางกรอบเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกๆ 5 ปี ให้มีความเข้มข้นขึ้น และผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนต่างประเทศให้ไทย กว่า 5 พันล้านบาท
  • ผลักดัน Post 2020 Global Biodiversity Framework รวมถึงเร่งการเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมพิธีสารนาโกย่าและพิธีสารคาร์ตาเฮน่า เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
  • ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทยสำเร็จ

ทส.

สผ. ก้าวไปข้างหน้า ต่อยอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ด้าน นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี สผ. ได้พัฒนางานอย่างมุ่งมั่น ต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ได้มีการจัดงาน ๓๐ ปี กองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของเครือข่ายในการเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนการดำเนินงานกับกองทุนสิ่งแวดล้อม

การมอบรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565 พร้อมทั้งการมอบรางวัลสำหรับเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกในระดับประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืนประจำปี 2564 และการมอบรางวัลนวัตกรรม สผ.

สำหรับความน่าสนใจในงานประชุมวิชาการประจำปีนี้ ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น ในหัวข้อ “สผ. ก้าวไปข้างหน้า ต่อยอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ อาทิเช่นประเด็น “กลไกความร่วมมือ สู่ความยั่งยืน” และ “แนวคิดภูมินิเวศ และการจัดการสิ่งแวดล้อม” เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการ ผลงานเด่น สผ. และ การนำเสนอผลงานของเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนผ่านบูธนิทรรศการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ สผ. ยังมีอีกมาก เพื่อมุ่งหวังให้การพัฒนางานด้านวิชาการและการดำเนินงานกำหนดนโยบาย ที่ยังคงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันพัฒนางานด้านวิชาการ ไปสู่การปฎิบัติ ให้เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวคิด ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ สู่รุ่นลูก รุ่นหลาน สืบไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo