Business

กมธ. วุฒิสภา ย้ำ กสทช. ควบรวมทรู-ดีแทค ต้องทบทวนกฏระเบียบ เคร่งครัดกม.

กมธ. วุฒิสภา ย้ำ กสทช. ควบรวมทรู-ดีแทค ต้องทบทวนกฏระเบียบ เคร่งครัดกม. ศึกษาผลกระทบทุกด้าน ยึดประโยชน์ประชาชน ไม่ผูกขาด

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ยื่นร้องเรียนต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กรณีการควบรวมกิจการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) กับบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC)

ควบรวมทรู-ดีแทค

ขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับอย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่

ควบรวมทรู-ดีแทค

คณะอนุกรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกต อำนาจของ กสทช.

ล่าสุด พล.อ.อนันตพร มีหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ โดยเชิญเลขาธิการกสทช. และเลขาธิการ กขค. มาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบรวมทรู-ดีแทค ดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565

ได้ผลสรุปการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมกับประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ คือ อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการกำกับดูแลการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เดิมประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจไว้เป็นลักษณะของการต้องขออนุญาตก่อนการรวมกิจการ

แต่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย หลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เหมาะสมกับสภาพตลาดและอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์การแข่งขันและเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ กสทช. จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเปลี่ยนมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ เป็นลักษณะของการแจ้งรายละเอียดการรวมธุรกิจ และผลกระทบของการรวมธุรกิจต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อทราบ

แล้ว กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง มาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้

ซึ่งการดำเนินงานของ กสทช. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน คือ แต่งตั้งคณะทำงานติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบการรวมธุรกิจ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท และศึกษาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ รวมถึงนำเสนอแนวทางการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่เหมาะสมต่อไป

ควบรวมทรู-ดีแทค

รอผลการศึกษา วิเคราะห์ ควบรวมทรู-ดีแทค

ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบที่ คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ รวมถึง แนวทางการกำกับดูแลและการกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะที่เหมาะสม

ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษา เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาและอาจนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขของการรวมธุรกิจต่อไป หากไม่มีการปฏิบัติตาม จะเป็นไปตามกฎหมายในการบังคับทางปกครอง ซึ่งท้ายสุดจะเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัทที่เกี่ยวข้องได้

ส่วนข้อชี้แจงของสำนักงาน กขค. ระบุว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องด้วยบริษัททั้ง 2 มีธุรกิจหลักอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า ทำให้ กขค. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว อันเป็นไปตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 4 (4) และถึงแม้ทั้ง 2 บริษัทจะมีธุรกิจอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ด้วย แต่ก็เป็นเพียงธุรกิจย่อยที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งการควบรวมไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในกิจการเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กขค. ได้ส่งตัวแทนไปเป็นอนุกรรมการฯ ที่ กสทช. ศึกษารายละเอียดและผลกระทบของการรวมธุรกิจ และพิจารณาเงื่อนไขของการรวมธุรกิจ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาต่อไป

ควบรวมทรู-ดีแทค

เสนอให้ กสทช. ทบทวนกฏระเบียบ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ด้านประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ คือ ได้เสนอแนะให้ กสทช. ทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ ให้เป็นไปตามหลักการสากลและหลักกฎหมายแข่งขันทางการค้า และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและหลักเศรษฐศาสตร์ การยอมให้เกิดผู้ที่ผูกขาด หรือ ผู้มีอำนาจเหนือตลาด แล้วค่อยออกมาตรการกำกับดูแล จะทำได้ยาก สิ้นเปลืองทรัพยากร ไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผล และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอันมีจำกัด อาทิ คลื่นความถี่อย่างไม่คุ้มค่า

ดังนั้น ตามหลักการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมสากล และหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย รัฐควรมีอำนาจในการหยุดยั้งการรวมธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผู้ที่ผูกขาด หรืออำนาจเหนือตลาดตั้งแต่ต้น คณะกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้ กสทช. ศึกษาผลกระทบของการรวมธุรกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค และการแข่งขันของตลาดในอนาคต

นายวัชระ กล่าวย้ำว่า หาก กสทช. ฝ่าฝืนอนุมัติให้มีการ ควบรวมทรู-ดีแทค ตนจะหารือ ดร.เกษม ศุภสิทธิ์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยา เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางให้เป็นคดีตัวอย่างต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo