Business

โควิด-19 ดันคนไทย เลือกชำระเงินผ่านเน็ต แต่ยังเจอปัญหาระบบล่ม

สวนดุสิตโพล เปิดผลสำรวจ คนไทยส่วนใหญ่ 87.11% เคยชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ลดใช้เงินสด เชื่อช่วยป้องกันโควิด-19 แต่ยังพบปัญหาระบบล่ม

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตของคนไทย จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,047 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน -2 ธันวาคม 2564 พบว่า 87.11% เคยชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วน 12.89% ไม่เคยใช้งาน

shutterstock 1909179442

เหตุผลที่เลือกใช้การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต

  • สะดวกสบาย ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก 93.51%
  • ลดการใช้เงินสด ป้องกันโควิด-19 81.52%
  • มีการสรุปยอด สรุปบัญชีชัดเจน 48.73%
  • ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง 44.44%
  • ไม่มีค่าธรรมเนียม 40.92%

ส่วนสาเหตุที่ไม่เคยใช้บริการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต

  • ใช้งานไม่สะดวก สะดวกชำระเงินสดมากกว่า 71.85%
  • ทำไม่เป็น กลัวโอนผิด 57.04%
  • กลัวโดนหลอก 35.56%
  • ไม่มีแอปพลิเคชั่น 31.85%
  • ไม่มีสมาร์ทโฟน/ไม่มีอินเทอร์เน็ต 11.85%

เมื่อเปรียบเทียบก่อนและเมื่อมีโควิด-19 พบว่า ประชาชนชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 80.81% ส่วนปัญหาที่พบบ่อย คือ ระบบล่ม 64.28  โดยภาพรวมประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต  60.65%

ในส่วนของการใช้บริการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต

  • ซื้อของออนไลน์ 78.88%
  • ชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต 76.46%
  • ทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น โอนเงิน ตัดบัญชี 73.16%
  • สั่งอาหารออนไลน์ 66.01%
  • ผ่อนชำระค่าบ้าน ค่ารถ 42.13%

ดุสิต

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการจ่ายเงินออนไลน์มากที่สุด เพราะรู้สึกว่าไม่สะดวก และใช้งานไม่เป็น

ดังนั้น การที่รัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และการใช้เงินดิจิทัล จึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างช่วงวัย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของระบบให้มากขึ้นด้วย

ผศ.ศุภวรรณ อภิชาติไตรสรณ์ ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต (e-Payment) มีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น การโอนเงินผ่าน Mobile Banking บัตรเครดิต และระบบ e-Wallet

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการใช้บริการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นคือ ความสะดวก ใช้ง่าย ปลอดภัยจากการลดการสัมผัส

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ กลยุทธ์การตลาดที่กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์และการชำระเงินออนไลน์แบบไร้รอยต่อ (Seamless) ส่งผลให้ไทยมีอัตราการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ขณะที่ภาครัฐและเอกชนต่างพัฒนาระบบการชำระเงินที่เชื่อมโยงบริการและสวัสดิการต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง และการคืนภาษีของกรมสรรพากร จึงทำให้ผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์ที่ดีในการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการระบบชำระเงินจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและระบบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ก้าวไปสู่ สังคมไร้เงินสด ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo