Business

อสังหาฯ วิกฤติรอบใหม่ โควิดระลอก 3 พ่นพิษ ซัพพลายล้น ตลาดซึมยาว 2-3 ปี

อสังหาฯ วิกฤติ ลากยาว 2-3 ปี พิษโควิดระลอก 3 ซัดกำลังซื้อวูบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซีอีโอเซ็นจูรี่ 21 เผยคิกออฟเปิดประเทศไม่ช่วย ซัพพลายล้นตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัวลดความเสี่ยงลงทุน

นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างน่าเป็นห่วง ว่าจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะ 1-2 ปี โดยคาดว่า อสังหาฯ วิกฤติ ซึมยาวต่อเนื่องอีก 2-3 ปี หากไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้

อสังหาฯ วิกฤติ

นอกจากนี้ ยังสะท้อนได้จากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% จากเดิมในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3% ขณะที่ทุกสำนัก ก็ได้ปรับประมาณการ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงต่ำกว่า 2% เช่นเดียวกัน

แม้ว่าภาคส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น แต่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาครัฐ แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังถือว่าล่าช้ากว่าที่คาดหวังไว้

นโยบายเปิดประเทศ 120 วันยังไม่เห็นผล

ขณะที่ รัฐบาลตั้งเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน และเริ่มต้นโครงการนำร่อง Phuket Sandbox ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมา เพราะไทยอยู่ในบัญชี ประเทศที่มีความเสี่ยง ต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ทั้งจากยุโรปและตะวันออกกลาง ยังไม่กล้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

อสังหา

ในส่วนของทางการจีน ก็มีมาตรการห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ โดยวิธีการไม่ต่อพาสปอร์ต ซึ่งนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงหลายประเทศในยุโรป ที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องของสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้มองภาพรวมของประเทศมากกว่าแค่ภูเก็ต

จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง ประกอบกับ หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP ทำให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น แม้ว่าหลายบริษัท จะประกาศตัวเลขยอดขายที่ดี แต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อ ก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน ทำให้รายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ สินค้าคงเหลือที่ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยพร้อมโอน และที่อยู่อาศัยระหว่างการก่อสร้าง ยังมีเหลืออยู่จำนวนมาก แม้ว่าผู้ประกอบการจะชะลอการลงทุนใหม่ลงไปบ้างแล้วก็ตาม ประกอบกับราคาที่ดินยังไม่ปรับตัวลดลง เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ อยู่ในมือของแลนด์ลอร์ด ที่ไม่จำเป็นต้องรีบขาย ถ้าไม่ได้ราคาที่ต้องการ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถหาที่ดิน เพื่อพัฒนาสินค้าที่สอดรับกับกำลังซื้อที่ลดลงได้

อสังหาฯ วิกฤติ แนวราบแข่งดุ แนวสูงซัพพลายล้น

ด้านตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ แม้ว่าจะมีความต้องการซื้อที่แท้จริง (Real Demand) แต่ก็มีอยู่อย่างจำกัด จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้หันมาลงทุนในโครงการแนวราบมากขึ้น ตลาดจึงมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ยอดขายจึงอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์
กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์

ส่วนตลาดคอนโดมิเนียม ถือเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะกำลังซื้อหลัก ๆ ในตลาดนี้ แทบไม่มีเหลือ ทั้งในส่วนของกำลังซื้อจากต่างชาติ และนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวในประเทศ ทำให้มีสินค้าเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก

“ต้องยอมรับความจริงว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง ทุกบริษัทต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงตรงนี้ แม้หลายบริษัทจะประกาศตัวเลขการขายที่ดี แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะโอนเป็นรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเวลานี้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยกู้อย่างมาก”นายกิติศักดิ์ กล่าว

ดังนั้น หากผู้ประกอบการ ลงทุนและดำเนินธุรกิจ ตามความเป็นจริงของตลาด เชื่อว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะค่อย ๆ ผ่านพ้นจากวิกฤติไปได้ แม้จะมีรายได้ที่ลดลง และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้นก็ตาม

นายกิติศักดิ์ ยังกล่าวถึงการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างว่า ทำให้การก่อสร้างล่าช้า และเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว หากต้องส่งแรงงานเหล่านี้กลับ ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งมอบงานล่าช้า ขณะที่การรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในหลายบริษัท น่าจะเกิดปัญหาอย่างเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องไปในไตรมาส 3-4 ของปีนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo