Business

‘ประกันสังคม’ ออกประกาศตรวจโควิด-19 เชิงรุก กลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการฟรี

ประกันสังคม” ออกประกาศ ตรวจโควิด-19 เชิงรุก กลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการฟรี เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 64

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม โดยให้ทุกหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมกันบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อทำงานเชิงรุกในการร่วมกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ

ประกันสังคม ตรวจโควิด-19

คณะกรรมการประกันสังคมจึงมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณเหลือพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ลงนามในประกาศฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2564

สาระสำคัญในประกาศฉบับนี้คือ เพื่อค้นหาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการฟรี ซึ่งพิจารณาจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามระดับความรุนแรงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

โดยผู้ประกันตนต้องไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐอื่น หรือต้องไม่เคยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด หรือการตรวจคัดกรองก่อนทำหัตถการ ตามที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนด หรือแพทย์ผู้ตรวจรักษาประเมินว่ามีความจำเป็น ตามดุลยพินิจของแพทย์

สำหรับการพิจารณาจัดสรรจำนวนผู้ประกันตนที่จะได้รับการตรวจคัดกรองฯ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา จะขอความเห็นชอบการตรวจคัดกรองในสถานประกอบการจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครก่อน

ทั้งนี้ ประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรอง ตรวจโควิด-19 และค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่สถานพยาบาล ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ตามระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยอัตราค่าตรวจวิเคราะห์และให้บริการ หรือตามที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

shutterstock 1786433714 e1608656235482

เงื่อนไขเยียวยาโควิด-19 “ประกันสังคม” 2564

นอกจากนี้ หากผู้ประกันตนในสถานประกอบการ (ผู้ประกันตนมาตรา 33) เกิดกรณีว่างงานชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ก็สามารถรับเงินเยียวยาตาม “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”

กฏกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 โดยผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิเยียวยาโควิด-19 จาก ประกันสังคม ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือนย้อนหลัง จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค
  • ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ลูกจ้างซึ่งเข้าเกณฑ์ 3 ข้อดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

เพื่อความชัดเจนขอย้ำว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังที่กล่าวจะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าทำงานและนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างเท่านั้น

วิธีลงทะเบียน “ว่างงานโควิด-19” ประกันสังคม

ช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการขอรับได้ตั้งแต่วันนี้ 4 มกราคม 2564 ตามขั้นตอนดังนี้

1.ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ดาวน์โหลดที่นี่ แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก **โดยขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง

2.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชย์ทดแทน สปส.2-01/7 จากลูกจ้าง

ประกันสังคม ว่างงานโควิด-19

3.นายจ้างบันทึกข้อมูลใน ระบบ e-Service บนเว็บไซต์สำนักงาน ประกันสังคม www.sso.go.th โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้างตาม แบบ สปส. 2-01/7 และ หนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว **กรณีนายจ้างเข้าใช้งานระบบ e-Service เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนก่อน

4.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service แล้วนำส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกข้อมูลบน e-Service เสร็จสิ้น

5.ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เงินทดแทนจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ

ในการขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นั้น ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม และหากดำเนินการดังที่กล่าวครบถ้วนเงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไป หรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด กรณีเงินไม่เข้าบัญชีโทรสายด่วนประกันสังคม 1506

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo