Business

เตรียมไว้พร้อม 8 มาตรการ รองรับการใช้น้ำ ‘อีอีซี’ ช่วงหน้าแล้ง

8 มาตรการ รองรับการใช้น้ำ อีอีซี ช่วงหน้าแล้ง กรมชลประทาน สร้างความมั่นใจ ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ มีน้ำใช้เพียงพอ รองรับแผนพัฒนา เมืองขยายตัวหลังโควิด-19

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่า การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เตรียม 8 มาตรการ รองรับการใช้น้ำ อีอีซี หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพื้นที่ อีอีซี จึงต้องบริหารจัดการให้ดี

8 มาตรการ รองรับการใช้น้ำ อีอีซี

ทั้งนี้ ภาคตะวันออกในอนาคต จะเป็นส่วนกลางของความเจริญ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการท่องเที่ยว ที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 คลี่คลาย ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และความเจริญจากการขยายเมืองออกมาจากภาคกลาง ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเตรียมตัว วางแผนบริหารจัดการ และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อมีน้ำเพียงพอ สำหรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออกและพื้นที่ อีอีซี ในช่วงฤดูฝน ปี 2563ใน 5 กรณี คือ กรณีน้ำมาก กรณีน้ำเฉลี่ย กรณีน้ำน้อย กรณี Inflow (ปริมาณน้ำท่าหรือปริมาณน้ำในลำธาร) ปี 2538 และกรณีน้ำไหลเข้าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย AVG-5%

เฉลิมชัย ศรีอ่อน
เฉลิมชัย ศรีอ่อน

มาตรการรองรับการใช้น้ำพื้นที่ อีอีซี หน้าแล้ง

สำหรับมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ อีอีซี ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/2564 ไว้ 8 มาตรการ ดังนี้

1. สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล สูบถึงเดือนพฤศจิกายน 2563ปริมาณน้ำรวม 60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

2. สูบคลองสะพานเติมอ่างฯประแสร์ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 15 ล้าน ลบ.ม.

3. สูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) เติมอ่างฯหนิงปลาไหล ถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำรวม 4.84 ล้านลบ.ม.

4. การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สูบใช้น้ำคลองน้ำหู ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 5 ล้านลบ.ม.

5. สูบผันน้ำคลองพระองค์ฯ/พานทอง – อ่างฯ บางพระ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 50ล้านลบ.ม.

6. สูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างฯบางพระ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 20 ล้าน ลบ.ม.

7. ประหยัดการใช้น้ำทุกภาคส่วนในจังหวัดระยอง และชลบุรี

8. สูบปันน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาลงอ่างประแสร์ มีแผนการสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2563ปริมาณน้ำรวม 12 ล้าน ลบ.ม.

น้ำ1

นอกจากนี้ได้มอบนโยบาย ให้กรมชลประทานและทุกภาคส่วน ดูแลและหาแนวทางเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เริ่มจากสำรวจ และดูปริมาตรที่แท้จริงของอ่างฯ และฝายต่าง ๆ ที่มีอยู่ เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างใช้งานมานาน อาจตื้นเขินมากขึ้น การสำรวจและขุดลอก จะช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บ

พร้อมกันนี้ ต้องรณรงค์การใช้น้ำอย่างมีคุณค่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีน้ำใช้มากหรือน้อย โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ไปถึงปลายทางของน้ำ โครงการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำต่าง ๆ ก็ขอให้ดูพื้นที่ที่มีฝนมากเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ไปสร้างเพิ่ม และเมื่อสร้างแล้วใช้ท่อส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในทุกพื้นที่

จากข้อมูลของกรมชลประทาน รายงานว่า ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2563) มีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 957 ลบ.ม. ปริมาตรน้ำที่นำมาใช้ได้ 802 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 42 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 14 แห่ง

ประชุม

เปิดแผนจัดสรรน้ำ รองรับความต้องการใช้

จึงมีแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 (1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2563) ปริมาณ 1,215 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภค 265 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 154 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 199 ล้าน ลบ.ม. และด้านเกษตรกรรม 597 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 390 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่แผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก มีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 487 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนปริมาตรน้ำ ที่นำมาใช้ได้ 386 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาด เล็ก 5 แห่ง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงมีแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 (1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2563) 644 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภค 135 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 153 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 112 ล้าน ลบ.ม. และด้านเกษตรกรรม 244 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 209 ล้าน ลบ.ม.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo