Business

กลุ่ม Care จี้รัฐ กู้วิกฤติหนี้เอสเอ็มอี ก่อนมาตรการพักหนี้หมด ต.ค.นี้ หวั่นศก.ล่มสลาย

กู้วิกฤติหนี้เอสเอ็มอี กลุ่ม Care ชี้งานด่วนรัฐบาล แก้หนี้เอสเอ็มอี หลังแบกอ่วม เร่งก่อนมาตรการพักหนี้จะจบเดือนตุลาคมนี้ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจทำล่มสลาย

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Care เปิดเผยว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่าเท่านั้น ที่มาตรการพักหนี้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดลงในเดือน ตุลาคมนี้ ดังนั้น งานด่วนของรัฐบาลคือ การเร่ง กู้วิกฤติหนี้เอสเอ็มอี ก่อนที่จะกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจ

SME 01

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ยังประสบปัญหาอยู่ ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการหารือกับธนาคารเจ้าหนี้ ว่ามีหนทางใดบ้างที่จะพอชะลอการจ่ายหนี้ออกไปได้อีกบ้าง หรือมีทางใดที่จะได้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่จะมาปรับธุรกิจ ให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้บ้าง

อยางไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการ 3 ใน 4 ของกลุ่มดังกล่าว จะถูกปฏิเสธความช่วยเหลือเพิ่มเติม จากธนาคาร เพราะหากให้เงินกู้ยืมเพิ่ม โอกาสที่จะเป็นหนี้เสียนั้นมีถึง 70% ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และหนี้เสียเหล่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรับผิดชอบไม่ถึง 30% ธนาคารพาณิชย์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้เสียเหล่านั้นเอง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน การไม่ปล่อยกู้ให้คุณนั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ดังนั้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงเดินหน้าไปสู่กองหนี้ขนาดมหึมาที่กำลังถาโถมเข้ามา โดยรายได้มากกว่า 70% ของธุรกิจเหล่านั้น พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งเด็ดขาด ให้ปิดประเทศเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แบบไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ แม้ว่าจะหยุดการแพร่ระบาดได้

ดวงฤทธิ์ บุนนาค
ดวงฤทธิ์ บุนนาค

“ในขณะเดียวกัน ก็กำลังเอาไฟเผาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นให้ตายไปอย่างรวดเร็ว และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมาจากภาครัฐเลย ตรงกันข้ามกลับต้องเจอกับการไล่เก็บภาษี และเก็บค่าสาธารณูปโภคย้อนหลัง และกำลังจะเจอการติดตามหนี้ของธนาคารอย่างหนักหน่วงในอีก 1 เดือนข้างหน้า หลังมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง”นายดวงฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจรวมกันกับบุคคล จะก่อให้เกิดหนี้เสียมากกว่า 7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤติหนี้เสียครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และแทบจะไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาใดๆ ได้ทันอีกต่อไป ค่าเงินบาทจะตกต่ำไปทันที ธนาคารหลายแห่งจะประสบปัญหาอย่างหนัก

สำหรับหนทางที่จะรอดจากวิกฤตินี้ ในอีก 1 เดือนข้างหน้า สิ่งที่ต้องลงมือทำอย่างรวดเร็ว คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องประกาศให้ธนาคารพาณิชย์อัดฉีดเงินกู้เข้าในระบบ ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดย ธปท.ต้องเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้นั้นทั้งหมด โดยให้เริ่มผ่อนจ่ายคืนในอีก 4 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ต้องเปิดให้เกิดการเข้ามาของนักท่องเที่ยวให้ได้เร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุด หากเริ่มทำมาตรการจริงจังตั้งแต่เดือนหน้านี้ ก็ยังมีความหวังที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอย่างปลอดภัย ในช่วงปลายปีบ้าง เพราะประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยแนะนำให้เริ่มเปิดที่ภูเก็ตก่อนทันทีในเดือนหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo