Business

สสว. ขอใช้ ‘พ.ร.ก.กู้เงิน’ เยียวยา เอสเอ็มอี 2 กลุ่มตกหล่น

สสว. เล็งชงสภาพัฒน์ ขอใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน ช่วยเอสเอ็มอี 2 กลุ่ม 2 ล้านราย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งกลุ่มใช้เงินกู้นอกระบบ และกลุ่มหนี้เสีย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นฐานราก สสว. จึงได้เร่งออกมาตรการเยียวยา พร้อมดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกอุตสาหกรรม

ร้านค้า

ทั้งนี้ ล่าสุดได้เตรียมเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบสถานการบันการเงิน หรือกลุ่มกู้เงินนอกระบบ และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยจะเสนอต่อสภาพัฒน์ เพื่อขอใช้เงินในโครงการ ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ภายในวันที่ 5 มิ.ย. เป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้หน่วยงานราชการยื่นเสนอโครงการเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในเรื่องงบประมาณที่จะใช้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน ได้ เรื่องจากขณะนี้ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร เนื่องจากต้องดูจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งสองกลุ่มก่อน เบื้องต้นคาดว่ามีจำนวน 2 ล้านราย จากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ 5 ล้านราย แต่ขึ้นทะเบียนในระบบเพียง 3 ล้านราย

วีระพงศ์ มาลัย1
วีระพงศ์ มาลัย

ที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือ เอสเอ็มอีดีแบงก์ ในการปล่อยสินเชื่อ วงเงิน 4,800 ล้านบาท ล่าสุดปล่อยกู้แล้ว 2,000 ล้านบาท และยังมีกลุ่มที่ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่อรายย่อย (บสย.)อีก 5,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ธพว. ยังได้ร่วมกับ สสว. จัดทำ 4 โครงการ ช่วยเอสเอ็มอีทุกกลุ่มใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจ สร้างผู้ประกอบการใหม่ พัฒนาแบรนด์ และเครือข่ายคลัสเตอร์ รวมถึงมอบฉลาก Smart Fabric ให้กับผู้ประกอบการ 4 รายในการผลิตหน้ากากชนิดที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยกับประชาชน

“การดำเนินโครงการทั้ง 4 จะช่วยพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในหลากหลายกลุ่ม ครอบคลุมหลายสาขาในอุตสาหกรรม ให้สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นภายหลังการระบาดของโรค รองรับการดำเนินธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภคตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ นิว นอร์มอล”นายวีระพงศ์ กล่าว

Avatar photo