โควิด-19 ทำอะไรไม่ได้ ! ราช กรุ๊ป ลุยโปรเจค ตั้งฐานผลิตรถไฟฟ้า-โรงซ่อม ในไทย 1 ปีศึกษาเสร็จรับระบบราง ปีนี้ลุยฉลุย 20,000 ล้านตามแผน เป้าหมายคงเดิมไปให้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ปี 2566
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนระบบราง และขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า รวมถึงการซ่อมบำรุงในประเทศไทย
ขณะนี้ศึกษาร่วมกับบริษัท AMR ASIA ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี จากนี้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น เราเห็นตรงกันว่า ไทยไม่ควรต้องนำเข้า และทางบริษัท AMR ASIA ก็มองว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะผลิตเอง และในส่วนของบริษัทราช จะศึกษาเรื่องการเชื่อมต่อเข้ากับระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงิน ในเบื้องต้นเราต้องการทั้งผลิตตู้รถไฟฟ้า พร้อมกับระบบด้วย
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ของบริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้รวมเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่จำนวน 4,506.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท จาก 4,043 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 2,925.01 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.9%
ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 1,480.64 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 101.13 ล้านบาท กำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน 1,983.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562 และเมื่อรับรู้การขาดทุนทางบัญชีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ มีกำไร 1,360.82 ล้านบาท ลดลง 21.8 %
การรับรู้รายได้ในไตรมาส 1 ของปีนี้ มาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปี
นายกิจจา ระบุว่า โควิด-19 ไม่มีอะไรกระทบกับบริษัทฯ เพราะไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่จำเป็นในทุกกิจกรรม การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) กิจการไฟฟ้านับว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนการทำงานที่บ้าน และโลกออนไลน์ บริษัทฯ จึงไม่มีการปรับลดเป้าหมายการลงทุน ยังคงเป็น 20,000 ล้านบาท
โดย 10,000 ล้านบาทมีโครงการเรียบร้อยแล้ว เดินหน้าลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2563 ไปแล้ว 2,055 ล้านบาท และในครึ่งหลังคาดว่าจะใช้เงินตามแผน 2 โครงการหลัก ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังานลมคอลเลคเตอร์ ออสเตรเลีย เงินลงทุน 1,858 ล้านบาท ซึ่งผลจากโควิดทำให้ล่าช้าไป 6 สัปดาห์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียล อินโดนิเซีย เงินลงทุน 197 ล้านบาทล่าช้าไป 1 เดือน
อีก 10,000 ล้านบาท เป็นโครงการใหม่ ซึ่ง 3 เดือนแรก เรามี 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี้ ระยอง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 92 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,409.6 ล้านบาท จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2565 และโครงการโรงไฟฟ้า REN ระบบโคเจเนอเรชั่น จังหวัดนครราชสีมา ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2566
อีก 9 เดือนหลังของปีนี้ คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 3 โครงการ หรือปีนี้ทั้งปีน่าจะเดินหน้าโครงการได้ไม่น้อยกว่า 5 โครงการ เป้าหมายเราจะเน้นเดินหน้าธุรกิจไฟฟ้าฟอสซิลและพลังงานลม ในประเทศอาเซียน เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ พลังน้ำ ในสปป.ลาว พลังงานลมใน เวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพ เพราะรัฐบาล ประกาศจะสนับสนุนให้เกิดถึง 6,000 เมกะวัตต์
สำหรับโครงการสำคัญในไทย บริษัทฯมีเป้าหมายจะเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการรอกฎกติกา การเปิดเสรีของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในภาคใต้ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล แต่จะไม่เข้าในล็อตควิกวิน เพราะของบริษัทฯเป็นโครงการใหม่
” ในระหว่างเกิดโควิด-19 แพร่ระบาด เราไม่ได้หยุด ยังเจรจา แต่ใช้วิธีเจรจาทางไกล และดีลกันตลอดเวลา รอให้สถานการณ์คลี่คลาย มีการเปิดประเทศ เราจะได้มีการลงนามกันต่อไป “
ที่สำคัญเรามีฐานะการเงินแข็งแกร่ง จึงเดินหน้าเจรจาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 103,448.31 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 44,440.97 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 59,007.34 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.46 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 7.73 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 10.66%
นายกิจจา ระบุว่า เป้าหมายของเรา ยังคงเดิมที่จะทำให้มีกำลังผลิตในมือเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้า จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น
นายกิจจา ย้ำว่า วิกฤติโควิด-19 บริษัทฯ มองเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส จึงได้เพิ่มน้ำหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากโรคระบาด รวมทั้งการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม
“สำหรับโอกาสนั้น เรามองเห็นศักยภาพในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ธุรกิจสีเขียว โครงการ Independent Power Supply (IPS) เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การต่อยอดธุรกิจจากโครงข่าย IoT เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเรายังได้ลงทุนพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ของธุรกิจ และสังคมร่วมกับกลุ่ม กฟผ.”
ในส่วนของบริษัทฯเองก็เข้าสู่ New Normal เช่นกัน เพื่อให้เกิดการรักษาระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสนับสนุนการทำงานทางไกล ยกระดับศักยภาพขององค์กร เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น Smart Workplace ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานเชื่อมต่อกันภายใน และซัพพลายเชน นำระบบแอพพลิเคชั่น ที่รองรับการทำงานของพนักงานแต่ละวัย
สิ่งที่ตามมาคือรูปแบบการทำงานแบบบุคคลที่เปลี่ยนไปสู่การทำงานเป็นทีมดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งยังลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย
ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทฯ มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในประเทศที่เดินเครื่องผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว รวม 5,040.60 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 783.07 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน ที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 74.73 เมกะวัตต์
ส่วนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก พลังงานทดแทน รวมทั้ง การลงทุนหลักทรัพย์ของ EDL-Generation Public Company ในตลาดหลักทรัพย์ สปป. ลาว รวมกำลังการผลิต ตามการถือหุ้น 2,801.76 เมกะวัตต์
- ‘ราช กรุ๊ป’ จับมือกฟผ.-เอ็กโก ตั้งบริษัทนวัตกรรม ไตรมาสแรกสรุปแผนธุรกิจ
- ‘ราช กรุ๊ป’ สุุดคึกหลังรีแบรนด์ ลุยลงทุนเมกะโปรเจคเต็มเหนี่ยว
- ‘ราช กรุ๊ป’ ขอมีเอี่ยวธุรกิจ IoT ซื้อหุ้น 35% ‘ติงส์ ออน เน็ต’ 180 ล้าน