Economics

‘ราช กรุ๊ป’ จับมือกฟผ.-เอ็กโก ตั้งบริษัทนวัตกรรม ไตรมาสแรกสรุปแผนธุรกิจ

“ราช กรุ๊ป” จับมือกฟผ.-เอ็กโก ดึงนวัตกรรมไฟฟ้าต่อยอดเชิงพาณิชย์ ไตรมาสแรกสรุปแผนธุรกิจ ตั้งเป้ากระจายสัดส่วนรายได้สู่ธุรกิจเทคโนโลยี-สื่อสาร-โครงสร้างพื้นฐาน เป็น 20% ใน 5 ปี  

LOGO RATCH GROUPไม่ใช่แค่เค้าราง แต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถูก Disrupt แน่นอน จากการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ที่กระจายตัวมากขึ้นลงลึกไปถึงชุมชน และรูปแบบพลังงานที่เปลี่ยนไป เป็น Smartๆ มากขึ้น นายจตุพร โสภารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ของบริษัทเป็นธุรกิจใหม่ 10-20% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้า ด้วยกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 7,057 เมกะวัตต์

ธุรกิจหลักที่เรากำลังจะเข้าไปเต็มตัวมากขึ้น ประกอบด้วย เทคโนโลยี และการสื่อสาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราเข้าไปในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง และต่อยอดขยายไปสายอื่นๆ , โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ,ระบบผลิตน้ำปะปาที่สปป.ลาว

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร จะมุ่งไปที่ธุรกิจพัฒนาโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดิน หรือ ไฟเบอร์ออฟติก ที่เป็นพื้นฐานของการส่งข้อมูลในยุคดิจิทัล โดยร่วมกับบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด เตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลงานระบบสายส่งไฟเบอร์ออฟติกที่จะเข้ามาในอนาคต

IMG 20200108 150526 0
จตุพร โสภารักษ์

และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยได้ข้อสรุปแล้วที่จะร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัท ราช และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป สัดส่วน 40%/30%/30% ซึ่งได้ผ่านคณะกรรมการกฟผ.ไปแล้วเมื่อ วันที่ 26 ธันวาคม 2562 เตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการบริษัทราช พิจารณาภายในเดือน มกราคมนี้

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแผนการดำเนินธุรกิจ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเราจะร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อดึงนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศที่น่าสนใจออกมาเป็นเชิงพาณิชย์ โดยรูปแบบจะทำเป็นโปรเจค เน้นนวัตกรรมด้านไฟฟ้าเป็นหลัก

สำหรับล่าสุดที่บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอแอลที เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ หรือ Thammasat – Nava Nakorn Smart City นั้น เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจใหม่ของเรา เพราะ Smart City จะเกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ของประเทศ สามารถรองรับธุรกิจไฟเบอร์ออฟติคของเราได้ด้วย

ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป กล่าวย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้รับการขานรับจากภาครัฐ และเอกชนมากขึ้น บริษัทจึงเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ และนำมาสู่ความร่วมมือในโครงการ “District 9: เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ”  ร่วมกับพันธมิตรทั้ง 3 องค์กร ซึ่งพันธมิตรแต่ละฝ่าย จะได้บูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญพัฒนาโครงการตามเป้าหมาย คาดหวังว่าโครงการจะช่วยบริหารต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมผลิตภาพ และประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และยังตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัลของคนในสังคมปัจจุบัน

Avatar photo