“การบินไทย” รายได้ต่ำกว่าคาดการณ์ เสนอรัฐช่วย “ค้ำประกันเงินกู้” เสริมสภาพคล่อง “ศักดิ์สยาม” ตีกลับ สวนตัวเลขไม่มีอะไรชัดเจน “ประธานบอร์ด-ดีดี” เครียดไม่ให้สัมภาษณ์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือกับสายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 (COVID-19) วันนี้ (5 มี.ค.) ว่า วานนี้ (4 มี.ค.) สายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ไม่ได้เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 พร้อมสายการบินพาณิชย์อื่นๆ อีก 17 แห่ง ดังนั้นการบินไทยและไทยสมายล์จึงมาหารือเรื่องดังกล่าวในวันนี้
เบื้องต้นการบินไทยได้เสนอขอรับมาตรการช่วยเหลือมากกว่าสายการบินอื่นๆ เนื่องจากการบินไทยมีคู่ค้าจำนวนมาก เช่น การบินไทยขอให้รัฐบาลช่วยค้ำประกันเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ซึ่งการบินไทยต้องการโดยเร็วที่สุด เนื่องจากรายรับของการบินไทยน้อยกว่าประมาณการณ์รายได้ อย่างไรก็ตาม การบินไทยยืนยันว่าบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพออยู่ได้อีกหลายเดือน แต่ตัวเลขปลายปีติดลบ
ตัวเลขไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่การบินไทยนำเสนอในวันนี้ เป็นมาตรการขอความช่วยเหลือในภาพรวม มีทั้งเรื่องแผนฟื้นฟูองค์กรและผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันตัวเลขและข้อมูลที่นำเสนอก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น การบินไทยมีต้นทุนเดือนละ 13,000 ล้านบาท แต่ทำไมต้นทุนถึงเท่ากันทั้งหมด ทั้งที่มีการหยุดบินบางเส้นทาง รวมถึงการบินไทยกำลังดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งก็ต้องดูว่าบริษัทดำเนินการช่วยเหลือตัวเอง 100% แล้วหรือยัง เป็นต้น
ข้อมูลของการบินไทย จึงแตกต่างกับมาตรการขอความช่วยเหลือของสายการบิน 17 แห่ง ซึ่งมีไทม์ไลน์ชัดเจนว่า หากได้รับการช่วยเหลือ จะสามารถฟื้นฟูได้ภายใน 1 ปี 6 เดือน ตนจึงเห็นว่า หากนำข้อมูลดังกล่าวไปเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คงจะไม่ผ่านการพิจารณา
ให้เวลาทำข้อมูลใหม่ 1 สัปดาห์
ดังนั้น ตนจึงมอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปหารือกับการบินไทยและสรุปมาตรการบรรเทาผลกระทบเรื่องไวรัสโควิด-19 ของการบินไทยออกมาให้ชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ว่า การบินไทยได้รับผลกระทบอย่างไร ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไร วงเงินกู้ที่การบินไทยต้องการอยู่ที่เท่าไหร่ ระยะสั้น หรือระยะยาว ต้องใช้เมื่อไหร่ ไม่ใช่เอาเงินไปกอด แล้วอธิบายไม่ได้
“วันนี้เขาก็อธิบายว่า ทุกไฟลท์ที่เขาบินยังมีกำไรอยู่นะ แต่กำไรที่ว่าเป็นส่วนของ Operating Flight ไม่ใช่ Fixed Cost มันยังมี Fixed Cost เรื่องค่าเสื่อมราคา ผมบอกเอามาให้ละเอียด แต่ต้องแยกออกจากัน เรื่องมาตรการเยียวยาโควิดเรื่องนึง เรื่องที่จะทำให้การบินไทยกลับมามีความสามารถในการแข่งขันเรื่องการบินระหว่างประเทศไปอีกเรื่องนึง” นายศักดิ์สยามกล่าว
สำหรับการบินไทยนั้น กระทรวงคมนาคมคงไม่สามารถเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ พิจารณาได้ทันในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) แต่หาก ครม. เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบให้สายการบินเชิงพาณิชย์อื่นๆ เป็นอย่างไร การบินไทยก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวด้วย เพราะรัฐบาลต้องถือหลักความเสมอภาคตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
“ประธานบอร์ด-ดีดี” เครียด!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่ผู้บริหารการบินไทย ประกอบไปด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินทไย และนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด
โดยภายหลังการหารือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด พร้อมด้วยนางชาริตา ออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และมีการหารือภายนอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าผลกระทบจากโรคโควิด -19 จะส่งผลลบต่อการบินไทยจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้นควรจะต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน ขณะที่นายสุเมธ ยังหารือภายในห้องร่วมกับนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ก่อนจะออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียดเช่นกันและปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ใดๆ กับผู้สื่อข่าว
- ชงมาตรการช่วย ‘17 สายการบิน’ ฝ่าวิกฤตไวรัสเข้า ‘ครม.เศรษฐกิจ’
- ‘บินไทย’ ยกเว้นค่าธรรมเนียมเลื่อนตั๋วเพิ่ม 2 ประเทศ ‘เวียดนาม-มาเลเซีย’
- พนักงานโพสต์ ‘ดีดีบินไทย’ ส่งสัญญาณ ใกล้ยกระดับ ‘ตัดค่าใช้จ่ายเต็มขั้น’
- ‘ไวรัสโควิด’ ทำผู้โดยสารบินไทยทรุด 30% ยอมรับอาการหนัก ทำได้แค่ประคอง
- ฉุดไม่อยู่! ปี 62 ‘บินไทย’ ขาดทุนสาหัส 1.2 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 3.9%