Business

ฉุดไม่อยู่! ปี 62 ‘บินไทย’ ขาดทุนสาหัส 1.2 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 3.9%  

การบินไทยประกาศผลประกอบการปี 62 ขาดทุนอ่วม 1.2 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 3.9% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 6 ปี ด้าน “บอร์ด” ยื่นหนังสือลาออกแล้ว 3 คน มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.

การบินไทย

วันนี้ (2 มี.ค.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งผลประกอบการปี 2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในปี 2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือลดลง 7.7% รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลงรวม 15,767 ล้านบาท หรือลดลง 8.6%

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือลดลง 5.8%  สาเหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันที่ลดลง 5,421 ล้านบาท หรือลดลง 9.0% เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันลดลงจากปีก่อน 6,580 ล้านบท หรือลดลง 4.6%

ในปี 2562 บริษัทและบริษัทย่อยจึงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2562 จำนวน 12,424 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาท หรือ 37.2%

โดยบริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 448  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.9% เป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.52 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.19 บาทต่อหุ้น หรือ 3.6%

ภาพประกอบข่าว TG127 2

มีแต่ปัจจัยลบ

สาเหตุหลักเกิดจากในปี 2562 บริษัทต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการ ทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วัน เป็น 400 วัน

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการประมาณการเงินตอบแทนความชอบในการทำงานจำนวน 2,689 ล้านบาท โดยบริษัทได้รับค่าชดเชยเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ที่กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติม กรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 400 วัน และมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 634 ล้านบาท

ขณะที่มีกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จำนวน 273 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4,439 ล้านบาท

fig 15 08 2019 04 33 43

ทรัพย์สิน-หนี้สินลดลง

ทั้งนี้ สิ้นปี 2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน ณ  31 ธันวาคม 2562 จำนวน 103 ลำเท่ากับ ณ สิ้นปี 2561 มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เท่ากับ 11.9 ชั่วโมง ต่ำกว่าปีก่อนที่ 12.0 ชั่วโมง

โดยในปี 2562 มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7% จากการปรับลดเที่ยวบินที่ไม่ทำกำไร และต้องหยุดบินในบางเส้นทางจากเหตุการณ์สาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประกาศปิดน่าฟ้า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1%  สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8%

สำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 2.6% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 13.7% จากการส่งออกที่ชะลอตัว และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนส่งผลให้อัตราการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 53.8% ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 60.8%

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 256,665 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 12,056 ล้านบาท หรือลดลง 4.5% มีหนี้สินรวม 244,899 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 3,366 ล้านบาท หรือลดลง 1.4% และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 11,766 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวน 8,690 ล้านบาท หรือลดลง 42.5%

การบินไทย 700x525

บอร์ดลาออก 3 คน

บริษัท การบินไทย แจ้งเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ได้ยื่นหนังสือลาออกจำนวน 3 คน และมีผลตั้งแต่เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) เป็นต้นไป ได้แก่

  1. นางปรารถนา มงคลกุล
  2. นายพินิจ พัวพันธ์
  3. นางสาวศิริกุล เลากัยกุล

Avatar photo