Business

‘สายการบิน’ นับถอยหลังสู่วิกฤติสภาพคล่อง ยื่น 5 ข้อเสนอให้รัฐต่อลมหายใจ

“กพท.” คาดปีนี้ผู้โดยสารเครื่องบินหาย 5 ล้านคน “สายการบิน” นับถอยหลังสู่วิกฤติสภาพคล่องใน 3-4 เดือนข้างหน้า ชง 5 มาตรการให้รัฐช่วยต่อลมหายใจ ตั้งแต่ลดค่าบริการสนามบินถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

S 96968709

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่มีต่อสายการบินของไทย วันนี้ (26 ก.พ.) ว่า กพท. ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนสายการบิน 20 แห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือสายการบิน

เบื้องต้นข้อมูลของ กพท. บ่งชี้ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดตารางบินฤดูหนาว (Winter Schedule) สายการบินแจ้งยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศไปแล้ว 9,797 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารระหว่างประเทศหายไป 3 ล้านคน

ถ้าหากสถานการณ์คลี่คลายได้ในเดือนเมษายนนี้ การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศตลอดปี 2563 หายไปราว 5 ล้านคน เหลือเพียง 81 ล้าน หรือลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับปี 2562

fig 09 04 2019 15 06 50

ขอลดค่าธรรมเนียมสนามบิน 50%

นายจุฬากล่าวต่อว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการสายการบินได้เสนอมาตรการให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือภาคธุรกิจรวม  5 มาตรการ ดังนี้

1.ขอปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงและค่าจอดอากาศยาน (Parking & Landing Fee), ค่าเช่าอาคารสำนักงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รวมถึงค่าบริการจัดจราจรทางอากาศของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ในสัดส่วน 50% จนถึงสิ้นปี 2563 รวมทั้งขอให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่างๆ จาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน

2.ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการหารายได้เพิ่ม โดยขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่าสายการบินจะกลับมาบินในเส้นทางในประเทศมากขึ้น และให้เร่งพิจารณาการขอเพิ่มเส้นทางบินใหม่ตามความต้องการของตลาดให้รวดเร็วมากขึ้น เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งพิจารณาอนุมัติกรณีที่สายการบินต้องการจะการขาย หรือนำเครื่องบินออกให้เช่าช่วงเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด เพราะที่ผ่านมาต้องรอการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยขณะนี้สายการบิน 2 แห่งมีแผนจะขายเครื่องบินหรือนำเครื่องบินออกให้เช่า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแล้ว หลังจากยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางที่เสี่ยงต่อโรค

3.ขอให้ภาครัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกไทย

fig 09 04 2019 11 52 41

อีก 3-4 เดือนเจอปัญหาสภาพคล่อง

4.ขอให้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยให้มีมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมคนโดยสาร (ภาษีสนามบิน หรือ PSC) ในสนามบินของ ทอท. และ ทย. ลง 50% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น

5.ขอให้ประสานธนาคารรัฐจัดหาแพคเกจวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สายการบิน รวมทั้งขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวกว่าปกติ เนื่องจากในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า คาดว่าสายการบินจะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง จากกรณีที่ต้องหยุดทำการบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการบินในประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น

“เขาอยากจะได้มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อยากจะให้รัฐหรือธนาคารของรัฐมีแพคเกจตรงนี้ด้วย ขณะเดียวกันก็อยากให้ระยะเวลาในการชำระหนี้นานหน่อย เพราะในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าน่าจะมีปัญหาเรื่อง Cash Flow บ้าง เพราะผู้โดยสารหายไป” นายจุฬากล่าว

นายจุฬากล่าวว่า กพท. จะสรุปมาตรการทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติในวันที่ 6 มีนาคม 2563 โดยมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ ทอท. อาจจะต้องเป็นในแนวทางการขอความร่วมมือ เพราะ ทอท. เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เชื่อว่า ทอท. คงให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เนื่องจากสายการบินก็เป็นลูกค้าของ ทอท. ถ้าหากสายการบินอยู่ไม่ได้ ก็จะส่งผลเสียต่อ ทอท. เองด้วย

Avatar photo