Business

‘กพท.’ ถก 10 สายการบิน! ผุดมาตรการด่วนกู้วิกฤติไวรัสโควิด-19

“กพท.” เรียกประชุม 10 สายการบิน! เล็งออกมาตรการด่วน ช่วยผู้ประกอบการจากวิกฤติ “ไวรัสโควิด-19” ด้าน “วิทยุการบินฯ” รัดเข็มขัดแน่น หลังเที่ยวบิน 15% หายจากน่านฟ้าไทย

Photos presscon 200116 0004

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ก.พ.) กพท. ได้เชิญสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 10 ราย ทั้งสายการบินประจำและไม่ประจำ เข้าหารือถึงสถานการณ์ทางธุรกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารของสายการบินลดลงเป็นอย่างมาก

สายการบินบางแห่งจึงเรียกร้องให้ กพท. ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น ขอให้สนามบินลดค่าบริการขึ้นลงเครื่องบินและค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Landing & Parking Fee) รวมทั้งขอจัดสรรเส้นทางการบินใหม่ และขอให้ภาครัฐขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (น้ำมันเจ็ท) จาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 ออกไปอีก

“ตอนนี้มียกเลิกไฟลท์เยอะ วันนี้จึงจะพูดคุยกับสายการบินทุกสายเพื่อดูว่าจะช่วยเหลือยังไง กระทบแค่ไหน โดยก่อนหน้านี้ก็มีบางสายการบินขอความช่วยเหลือเข้ามาแล้ว แต่ถ้าจะช่วย ก็ต้องช่วยทุกสายเหมือนกันหมด” นายจุฬากล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังตอบไม่ได้ว่า มาตรการต่างๆ ที่หารือในวันนี้จะมีผลในทางปฏิบัติเมื่อใด เนื่องจาก กพท. จะต้องนำมาตรการต่างๆ ไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สนามบินหรือกระทรวงคมนาคมก่อน โดยอาจจะเสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณามาตรการทั้งหมด ในการประชุมครั้งถัดไปช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 เพื่อความรวดเร็ว เนื่องจาก กบร. มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

86740

เที่ยวบินหาย 15%

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้ บวท. เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวของเที่ยวบินตั้งแต่วันที่ 25-27 มกราคม 2563

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก็เห็นผลกระทบอย่างชัดเจน ปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ยของประเทศไทยลดลงจากปกติ 2,900-3,000 เที่ยวบินต่อวัน เหลือเฉลี่ย 2,500-2,700 เที่ยวบินต่อวัน หรือลดลง 10-15% จากปกติ โดยบางวันมีปริมาณเที่ยวบินเหลือเพียง 2,300 เที่ยว

สำหรับเที่ยวบินที่ลดลงส่วนใหญ่อยู่ในเส้นทางเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีเที่ยวบินลดลงมากที่สุดราว 300 เที่ยวบินต่อวัน ด้านเที่ยวบินจากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ก็เริ่มลดลงตามไปด้วย

หลังจากนี้ บวท. จะติดตามสถานการณ์และปริมาณเที่ยวบินอย่างใกล้ชิดอีก 1 เดือน จึงสามารถประเมินตัวเลขต่างๆ ได้ เพราะตอนนี้ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกเท่านั้น และเบื้องต้นก็คาดว่า ปริมาณเที่ยวบินมีโอกาสจะลดลงไปอีก

วิทยุการบิน

“บวท.” คุมค่าใช้จ่าย

นายทินกรกล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงาน บวท. เอง ก็จะมีการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เข้มข้นมากอีก เพราะรายได้หลักของ บวท. มาจากค่าบริการควบคุมการจราจรทางอากาศที่เก็บจากสายการบิน ถ้าหากปริมาณเที่ยวบินลดลง ก็ย่อมจะทำให้รายได้ของ บวท. ลดลงตามไปด้วย

โดยตั้งแต่เปิดปีงบประมาณ 2563 บวท. ก็ดำเนินมาตรการควบคุมรายจ่ายอยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่า การขยายตัวของเที่ยวบินในประเทศไทยช่วงปี 2562 อยู่ที่ 1.8% ซึ่งเป็นแบบการเติบโตแบบชะลอตัว และคาดว่าปี 2563 จะเติบโตเพียง 1-1.3%

Avatar photo