Business

ระวัง!! มุกใหม่ ‘ทองปลอม’ ใช้ผงโลหะทังสเตนผสม น้ำหนักใกล้เคียงทองจริง

สถาบันอัญมณีฯ เตือนภัยมิจฉาชีพทำทองปลอมรูปแบบใหม่ ใช้ผงโลหะทังสเตน ที่มีน้ำหนักใกล้เคียงทองคำไปผสมในทองคำ หรือยัดไส้ ตรวจสอบได้ยาก ร้านทอง โรงรับจำนำ เริ่มเจอแล้ว 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ได้รับรายงานพบกลโกงใหม่ในการขายทองคำปลอม โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการนำผงโลหะทังสเตน ซึ่งมีน้ำหนักใกล้เคียงกับทองคำไปผสมในก้อนโลหะทองคำ และหลอมเป็นทองคำ รวมถึงทำเป็นตัวเรือน

ทองปลอม

นอกจากนี้ ยังนิยมทำเป็นลักษณะทองรูปพรรณเก่าเก็บ ทำให้ผู้รับซื้อไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า เพราะการตรวจสอบทั่วไป รวมถึงห้องปฏิบัติการตรวจสอบขนาดเล็กที่มีเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบส่วนผสมดังกล่าว

สำหรับการตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้ จะต้องนำไปหลอมเพื่อแยกธาตุเคมี หรือการตัดก้อนทองคำ เพื่อดูความเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งหากเป็นทองแท้ เมื่อตัดเนื้อทองออกมา จะเห็นได้ว่าผิวที่ตัดนั้น มีความเป็นเนื้อเดียวกัน มันวาวเป็นประกายทองคำ แต่หากตัดผ่าก้อนทองคำแล้วเห็นว่ามีการแยกตัวของชั้นโลหะ มั่นใจได้เลยว่ามีการผสมโลหะอื่น ๆ เข้าไป

ทั้งนี้พบว่า การปลอมทองคำ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ เพราะปัจจุบันทองคำมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้มิจฉาชีพเข้ามาหาประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยมีการปลอมทองคำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทองเกรด A, ทองไมครอน, ทองโคลนนิ่ง , ทองยัดไส้ และเครื่องประดับทองปลอม

ทอง

ล่าสุด มีการนำผงทังสเตน มาใส่ไว้ด้านใน และด้านนอกเป็นทองคำแท้ ยิ่งทำให้ตรวจสอบยากขึ้น และมีร้านทองคำ มีโรงรับจำนำ ที่ถูกหลอกขายทองคำปลอมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นายสุเมธกล่าวว่า GIT มีข้อแนะนำให้เลือกซื้อทองคำ จากร้านค้าที่ได้ใบรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ซื้อไปมีคุณภาพ มาตรฐาน หรือเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือโครงการ Buy With Confidence (BWC) เพราะมั่นใจได้ว่าขายสินค้าดี มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด

ส่วนการตรวจสอบทองคำ ปัจจุบันตรวจสอบเพียงตาเปล่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดย GIT มีเครื่องมือขั้นสูงที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เช่น กรณีนี้สามารถตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอมก่อนที่จะรับซื้อโดยไม่ต้องทำลายชิ้นงาน ด้วยเทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (XRF) ที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ชนิดของธาตุและปริมาณธาตุในสารตัวอย่าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo