Business

สภาอุตฯ เตือนอุตสาหกรรมปรับตัวรับกฏเกณฑ์การค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อม สะเทือนส่งออก

ประธานสภาอุตฯ เตือนผู้ผลิตเพื่อส่งออก เร่งปรับตัวรับกฏเกณฑ์การค้าโลกเข้มดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในซัพพลายเชน หวั่นกระทบส่งออก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรงานประชุมระดับโลก GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พร้อมเตือนผู้ผลิตไทยปรับตัวรับกฏเกณฑ์การค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อม

สภาอุตฯ
เกรียงไกร เธียรนุกุล

นายเกรียงไกร ให้สัมภาษณ์ The Bangkok Insight ถึงความท้าทายของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม รวมถึงโควิด เป็นสิ่งใหม่ที่เป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ที่เกิดจากโลกร้อน และตอนนี้สถานการณ์ถูกยกระดับจากโลกร้อนเป็นโลกเดือด ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างร้ายแรงและซีเรียส สำหรับมวลมนุษยชาติ เพราะได้รับผลกระทบทั้งโลกที่มีประชากร 8,000 ล้านคน

การที่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการเพิ่มการบริโภค เพิ่มปริมาณการปล่อยของเสีย ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไปจนถึงวิกฤติมาก สะท้อนได้จากการเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น กินพื้นที่กว้างขึ้น และหลายประเทศที่ไม่เคยเกิดก็กลับเกิด และจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและถี่ขึ้น

ดังนั้น ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จากเดิมที่อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น ภาคเอกชน ต้องให้ความสำคัญกับการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยอย่าง อียู 27 ประเทศ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สินค้า รวมถึงอุตสาหกรรมและพลังงาน

สภาอุต

ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่เรียกว่า สันดาปภายใน และส่งออกอันดับ 11 ของโลก แต่วันนี้ประเทศที่เราส่งออกประกาศเลิกใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและเปลี่ยนสู้รถที่ใช้พลังงานสะอาด

ถ้าเราผลิตแบบเดิมแล้วเราจะขายใคร จะทำอย่างไรกับมูลค่าการส่งออกที่คิดเป็น 10% จากมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกว่า 6 แสนคนที่จะถูกดิสรัปและตกงาน

เร่งปรับตัวรับกฏเกณฑ์การค้าโลก

นอกจากนี้ ล่าสุด สหภาพยุโรป หรืออียู ได้ตั้งมาตรการใหม่ที่เรียกว่า carbon border adjustment mechanism เพื่อควบคุมสินค้าอุตสาหกรรมทุกประเภทที่ผลิต ถ้าสินค้าใดหรือบริษัทใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก จะถูกแบน หรือปรับเก็บภาษีเพิ่ม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยต้องพึ่งการส่งออก 60% ของจีดีพี

สำหรับมาตรการดังกล่าว เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเริ่มจาก 6 อุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมหล่อโลหะ เหล็ก อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมี เยื่อกระดาษ เซรามิก ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกขึ้นบัญชีและต้องรายงานกระบวนการผลิตภายใน 2 ปีเพื่อให้ปรับตัว จากนั้นจะเริ่มมาตรการปรับจริง

ทั้งนี้ สภาอุตฯ ในฐานะเป็นศูนย์กลางของการผลิตทั่วประเทศ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ทุกคนตื่นตัวและตระหนักในเรื่องนี้ มีการจัดตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อช่วยเอสเอ็มอีในการเปลี่ยนผ่าน

เกรียงไกร

เราไม่ค่อยห่วงบริษัทใหญ่ เพราะมีทุนและมีคนเก่ง มีความพร้อม ขณะที่เอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนทั้งหลาย จะปรับตัวอย่างไร และขาดปัจจัยหนุนเช่น ทุนทรัพย์ บุคลากร

ดังนั้น สภาอุตสาหกรรม จึงได้จัดตั้งสถาบันขึ้นมาหลายสถาบัน เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้ผลิต โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เช่น สถาบันบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สถาบันน้ำ สถาบันใหม่ล่าสุดคือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCI)

สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการไทยมักผลิตได้ดี มีคุณภาพ ผลิตได้ถูก แต่ว่าไม่ทราบว่าสินค้าที่ผลิตแต่ละชิ้นมีคาร์บอนฟุตพรินต์เท่าไร จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจก่อน เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

ส่วนมาตรการที่ต้องดำเนินการ เช่น การเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานใหม่ จากเดิมใช้ฟอสซิล เปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนระบบเครื่องจักรเพื่อให้ใช้ไฟฟ้าน้อยลง การเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดเส้นทางการผลิตลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และนำของเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ เพื่อเป็น Zero Waste ให้ได้

ขณะเดียวกัน ยังได้จัดตั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTIX ซึ่งเริ่มใช้แล้วในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมยานยนต์

แพลตฟอร์มสภาอุต

นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มสำหรับอุตสาหกรรมที่มีขยะเกิดขึ้น เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยนำขยะเหล่านั้นมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ เป็นศูนย์รวมเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำกลับไปผลิตใหม่

ปัจจุบัน สภาอุตฯมีสมาชิกเป็นบริษัทใหญ่กว่า 10% ที่เหลือเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชน โครงการเหล่านี้จะเป็นพี่ช่วยน้อง เพราะหากไม่ช่วย ถึงบริษัทใหญ่จะไปได้แต่เอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนไม่เข้าข่าย ก็จะส่งออกไม่ได้เช่นกัน

อีกประเด็นสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี คือ การช่วยเหลือเรื่องไฟแนนซ์ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เอสเอ็มอีที่ให้ความรู้เข้าใจอยากเปลี่ยน แต่ไม่มีแหล่งเงิน ซึ่งหากยิ่งปรับตัว ช้า จะยิ่งกระทบสินค้าที่ส่งออก จึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo