Business

รองประธานสภาอุตฯ แนะทางออกแจกเงินดิจิทัลแบบ ‘พุ่งเป้า’ เฉพาะคนที่ลำบาก เดือดร้อนจริง

“อิศเรศ” รองประธานสภาอุตฯ ชี้นโยบายแจกเงินดิจิทัล หวังผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นับเป็นเรื่องดี แต่ควรทบทวนกลุ่มเป้าหมาย พุ่งเป้าเฉพาะคนเดือดร้อนจริง

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โพสต์เพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Isares Rattanadilok แนะรัฐบาลปรับกลุ่มเป้าหมายแจกเงินดิจิทัล เน้นเฉพาะคนที่เดือดร้อนจริง โดยระบุว่า

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ทางออกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มการบริโภค จากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) 10,000 บาท

ผมขออนุญาตแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ดังนี้ครับ

1. ถือเป็นนโยบาย ที่ดีของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคของประชาชน ที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ ปานกลาง แรงงาน กลุ่มเปราะบาง ประเภทต่าง ๆ และ คนตกงาน

2. การเลือกใช้เงิน Digital คือการควบคุมประเภทของการใช้เงิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ( สินค้า หรือ บริการ ที่จำเป็นในการครองชีพ)และ ให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระบบ Block chain ตลอดเวลา 6 เดือน ของโครงการ

ที่สำคัญคือ ทำอย่างไร ให้เงินหมุนเวียน และ กระจายสู่ท้องถิ่นและ SMEs มากที่สุด และ ไม่กระจุกตัวในสินค้า และ ช่องทางการตลาดที่ผูกขาดของทุนใหญ่ มากเกินไป

3. เศรษฐกิจในประเทศของเราในวันนี้ ต้องยอมรับว่า ฝืดเคืองอย่างยิ่ง เราต้องการการกระตุ้นการบริโภค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ

3.1 ฝั่ง Demand : ดูจาก % หนี้ครัวเรือน ต่อ GDP ที่สูงถึง 91% (ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ ) ใครมองปัญหาไม่ออก อยากให้ท่านลองคุยกับ ลูกน้องในองค์กรของท่านดูก็ได้ครับ

3.2 ฝั่ง Supply : ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ จากการส่งออกที่ชะลอตัว สินค้าราคาถูกนำเข้า ไร้มาตรฐานแทรกแซงตลาดในประเทศ ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และ ล่าสุดการเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างเหตุผลสกัดเงินเฟ้อในอนาคต ?

4. วินัยการคลัง ผลกระทบเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ความคุ้มค่าของโครงการนี้ คือสิ่งที่เราและ กูรู ทั้งปวง ควรต้องช่วยกันเสนอแนะทางออกที่ดี อย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทย ไม่ใช่อยู่ภายใต้การสร้างความหวาดกลัวจนเกินจริงไหมครับ ?

ที่ผ่านมา และจากนี้ไป

ประชาชนส่วนใหญ่ ก็อยากให้กูรูทั้งหลาย จะได้กรุณาให้ความเห็นต่อการใช้เงินของภาครัฐ ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยง และ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อย่างเหมาะสมนะครับ

ท้ายนี้ ในความเห็นส่วนตัว ผมขออนุญาตเสนอแนะรัฐบาล เพื่อเดินหน้าโครง Digital wallet ดังนี้ ครับ

1. ทบทวนกลุ่มเป้าหมาย แบบ พุ่งเป้า ควรเน้นเฉพาะคนที่ลำบาก เดือดร้อน และเห็นความสำคัญของ การใช้เงิน 10,000 บาทนี้จริง ๆ

ทั้งนี้ เราจะได้มีงบประมาณไปใช้ในโครงการเร่งด่วนอื่น ๆ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ตามที่ภาครัฐ ก็ให้ความสำคัญ ลงพื้นที่ รับทราบปัญหาตลอดมา

2. บริหารโครงการให้มีความโปร่งใสและรัดกุมที่สุด ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ในทุกบาททุกสตางค์ ด้วยจำนวนเม็ดเงินจำนวนมากหลายแสนล้านบา

3. ติดตามผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง และสื่อสาร นำเสนอให้สังคมรับทราบเพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ ลดการโต้ตอบแบบนักการเมืองใด ๆ

ผมปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยการใช้พลังบวก ลดการโต้ตอบทางการเมืองซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประเทศไปมากกว่านี้นะครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo