GC เดินหน้าลงมือทำ มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2593 ขับเคลื่อนทั้งซัพพลายเชน มุ่งประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ พลาสติกรีไซเคิล
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดงานประชุมระดับโลก GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S การรวมตัวครั้งสำคัญของ GEN S คน GEN ใหม่หัวใจยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนจากโลกที่กำลังจะอยู่ไม่ได้ ให้เป็นโลกที่ดีขึ้น
หนึ่งในกิจกรรมน่าสนใจในงานดังกล่าว ได้แก่ Act Now การลงมือทำขององค์กร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดย ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมเผยถึงการดำเนินงานของ GC ในการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) ในปี 2593
ดร.ชญาน์ กล่าวว่า GC มีโรดแมพตั้งเป้าลดการปลดปล่อยตาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 เริ่มจากปี 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 20% หรือประมาณ 6 แสนตันเป็นหมุดหมายแรก
ที่ผ่านมา GC จัดทำโครงการกว่า 100 กว่าโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประหยัดพลังงาน โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ปรับกระบวนการต่าง ๆ การนำพลังงานสีเขียว พลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายแรกได้ในปี 2573
ในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนพื้นที่ภูเขาขยะ ที่ย่านอ่อนนุช เป็นสวนสาธารณะ ด้วยการผนึกความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการปลูกต้นไม้ สร้างป่าทดแทนขยะ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ GC ยังร่วมมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดูแลชายหาด การปลูกป่าโกงกาง ป่าชายเลน ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ปกตินับ 10 เท่า โดยวางเป้าหมายดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.3 ล้านตันภายในปี 2573
นอกจากการขับเคลื่อนในองค์กรแล้ว บริษัทยังขยายผลไปถึงซัพพลายเชน คู่ค้าและลูกค้า ด้วยการปลูกฝังเรื่องความยั่งยืน เรื่องของคาร์บอนต่ำ แช่น Allnex ในการนำความคิดด้านความยั่งยืนมาใช้ในผลิตภัณฑ์ ลดการปลดปล่อยคาร์บอน รวมถึงการนำไบโอพลาสติกที่ GC เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น
ดร.ชญาน์ กล่าวว่า การนำไบโอพลาสติกมาพัฒนาเพิ่มมูลค่า ยังเป็นการช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่งเนื่องจากไบโอพลาสติกผลิตจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จึงมีการนำความรู้เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำให้เกษตรกรดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
อีกโครงการสำคัญคือ การใช้ทรัพยากรใหม่ ๆ อย่างเช่น การนำเอาขวด Pet มารีไซเคิลแล้วนำกลับมาบรรจุอาหารได้ซ้ำอีก ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการอาหารและยาให้การรับรองแล้ว ช่วยให้เรามีความหวังมากขึ้นว่าจะสามารถนำวัสดุที่รีไซเคิลมาเพิ่มคุณค่าได้มากขึ้น หากสามารถต่อยอดไปถึงการแยกขยะในครัวเรือน นำกลับมารีไซเคิลได้มากขึ้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมีราคาถูกลง และใช้แพร่หลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน สิ่งสำคัญคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับบุคคลที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในกิจวัตรประจำวัน ไปจนถึงระดับชุมชน องค์กร หน่วยงานและประเทศ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- GC จัดงาน ‘GC Sustainable Living Symposium 2023’ ปลุกคนไทยตื่นตัวร่วมกู้โลก
- กทม.-GC อัพไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว เทิร์นสุขให้สัตว์เลี้ยง ‘Circular Pet Zone by GC YOUเทิร์น’
- ‘GC’ ร่วมงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ‘SX2023’ โชว์ YOUเทิร์น ร่วมกำจัดขยะพลาสติก