Business

‘จุรินทร์’ สั่งตั้งวอร์รูมรับมือเอลนีโญ เกาะติดผลกระทบข้าว-พืชเกษตรกร

“จุรินทร์” สั่งตั้งวอร์รูม เกาะติดผลกระทบจากเอลนีโญ โดยเฉพาะข้าว พืชเกษตร ทั้งด้านผลผลิต การตลาด ราคา ล่าสุดราคาข้าวเปลือกขยับแล้ว ส่วนข้าวถุงยังนิ่ง 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งต่อโลกและไทย และติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่น

เอลนีโญ

ทั้งนี้ จะมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานและผู้แทนส่วนราชการ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคาและการตลาดของพืชเกษตรทุกตัว โดยเฉพาะสินค้าข้าว และรายงานผลให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศด้วย

สำหรับการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ และกรณีอินเดียห้ามส่งออกข้าวข้าวตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่จะมีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ตลาดข้าว และราคาข้าวทกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่า สถานการณ์เอลนีโญแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอ่อน 0.5-1.0 ระดับปานกลาง 1.0-1.5 และระดับรุนแรง เกินกว่า 1.5

ขณะที่ประเทศไทย ช่วงเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 0.8 ซึ่งช่วงที่มีสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงตอนปี 2559 อยู่ที่ระดับ 1.2 และกรมชลประทานรายงานว่าปีนี้ ปริมาณน้ำฝนของไทย จะลดลง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ คาดว่าจะน้อยกว่าปี 2565 ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบกับพืชผลการเกษตรที่อยู่ในเขตชนประทาน

จุรินทร์

ส่วนผลกระทบจากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มีสาเหตุจากรัฐบาลอินเดียต้องการให้ราคาข้าวในประเทศลดลง จึงระงับการส่งออก เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และมีความผันผวน ยังไม่สามารถประเมินราคาได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวไปตลาดแอฟริกา ที่เดิมนำเข้าจากอินเดีย เกษตรกรจะขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเฉพาะข้าวเจ้า ราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 7% สูงกว่าก่อนที่อินเดียจะห้ามส่งออก ส่วนอาหารสัตว์และปศุสัตว์ ต้นทุนจะสูงขึ้น รวมถึงราคาข้าวถุง ที่อาจได้รับผลกระทบ

สำหรับราคาข้าวเปลือกล่าสุด ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,500-16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,000-13,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,000-12,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์แล้ว และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,500-14,700 บาท ซึ่งราคาสูงกว่าประกันรายได้แล้ว

ในส่วนของราคาข้าวถุง กรมการค้าภายในรายงานว่า ข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัม (กก.) เฉลี่ยปีที่แล้ว 209 บาท ขณะนี้ 210 บาท ข้าวขาว 100% ปีที่แล้วเฉลี่ย 119 บาท ปีนี้ 118 บาท

ได้สั่งการให้ดูแลราคาข้าวในอนาคต โดยให้หาจุดสมดุล เพราะในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น จะส่งผลให้ข้าวสารราคาเพิ่มขึ้น ถ้าแพงเกิน ก็ต้องกำกับควบคุมให้อยู่ในจุดสมดุล ผู้บริโภครับได้

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ ให้วินวินทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และถ้าเสียประโยชน์ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุดทุกฝ่าย โดยวอร์รูมมีหน้าที่ต้องไปดูให้เหมาะสม

shutterstock 1236367369

กรมการข้าว รายงาานผลผลิตข้าวเปลือกปี 2565 มีปริมาณ 34.3 ล้านตัน ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 32.35 ล้านตัน ลดลง ประมาณ 2 ล้านตัน หรือลดลง 5.6% เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้องมีการประเมินสถานการณ์ต่อไป ทั้งระดับภัยแล้งจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และน้ำต้นทุน จะมีเพียงพอเพาะปลูกหรือไม่

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้มีแนวโน้มเป็นปีทองของเกษตรกร เพราะขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ไม่เคยปรากฏ ไม่เคยเห็นมาก่อน

ด้านราคาข้าวตลาดโลก เฉพาะข้าวขาว ขึ้นมาเป็น 100 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว นับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออก แต่ก็ยังไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอินเดียจะเอายังไงต่อ จะห้ามนานหรือไม่ เพราะแม้จะห้าม ก็ยังเปิดช่องให้หลายประเทศซื้อได้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo