Business

แนะธุรกิจใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง โฆษณาสินค้าบนโลกออนไลน์

สนค. แนะธุรกิจใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ช่วยโฆษณาสินค้าบนโลกออนไลน์ ขับเคลื่อนการทำธุรกิจให้เข้าถึงผู้บริโภค 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามแนวโน้มการใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencer) ซึ่งเป็นตัวละครสมมติที่ถูกออกแบบโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก ให้มีลักษณะคล้ายกับคนจริง ๆ และมีตัวตนอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูป ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และติ๊กต็อก

อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนของแบรนด์หรือสินค้า ทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสื่อสาร และโต้ตอบกับผู้ที่ติดตามบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น ๆ

ทั้งนี้พบว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์ เสมือนจริง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้นำมาใช้ในการขับเคลื่อนการทำธุรกิจ และช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้สร้างยังสามารถกำหนดคาแรคเตอร์ของตัวละครสมมติได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย การแสดงออก หรือไลฟ์สไตล์ ทำให้ธุรกิจหรือแบรนด์ต่าง ๆ สามารถใส่ลักษณะพิเศษบางอย่างเพิ่มเข้าไปได้ เพื่อให้ตัวละครตอบโจทย์สินค้าหรือบริการได้ตรงจุด

อีกทั้งการที่เป็นตัวตนเสมือนทำให้มีข้อได้เปรียบมากกว่ามนุษย์ ตรงที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ สุขภาพ หรือเวลา (ยกเว้นผู้สร้างเลิกทำต่อ) และไม่มีชื่อเสียงเสียหายจากพฤติกรรมในอดีต ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้า

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ปัจจุบัน พบว่าการสร้างอินฟลูเอนเซอร์บนโลกเสมือน ได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยนักพัฒนาจากหลายประเทศ รวมถึงไทยได้มีการสร้างขึ้นมา เช่น

  • Lil Miquela ลูกครึ่งบราซิล-อเมริกัน อายุ 19 ปี อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงยุคบุกเบิก สร้างขึ้นเมื่อปี 2559 โดยบริษัท Brud ในสหรัฐ มีผลงานเพลงเป็นของตัวเอง และทำงานร่วมกับหลายแบรนด์ดัง อาทิ Givenchy Off-White Prada และ Calvin Klein
  • Noonoouri แฟชั่นนิสต้าวัย 19 ปี จากเยอรมนี เป็นผลงานของ Joerg Zuber ผู้ก่อตั้ง Opium Effect โดยได้ร่วมงานกับนิตยสารแฟชั่นและแบรนด์สินค้า อาทิ Dior Valentino Kim Kardashian’s KKW Beauty รวมถึงงานสารคดีเรื่อง Seaspiracy ของ Netflix
  • Ai Ailynn อายุ 21 ปีสร้างโดยบริษัท SIA Bangkok บริษัทเอเจนซี่ด้านอินฟลูเอนเซอร์ เสมือนจริง โดยเฉพาะแห่งแรกของไทย ไอรีนถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2564 บนบัญชีอินสตาแกรมที่ใช้ชื่อว่า @ai_ailynn และได้ร่วมงานกับเครือข่าย AIS ในแคมเปญ #AIS5GxAilynn

นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ได้เข้ามาตีตลาดในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย อาทิ อุตสาหกรรมบันเทิง โดยเกาหลีใต้ ประเทศผู้นำอุตสาหกรรมบันเทิงได้เปิดตัวไอดอลเสมือนจริงแล้วหลายคน อาทิ วง MAVE วง PLAVE และวง Eternity

shutterstock 2282847579

แม้แต่วงการสงฆ์ ก็เข้าสู่โลกเสมือนจริงได้ โดยเมื่อปี 2564 ไทยเปิดตัวพระมหาเอไอ ซึ่งเป็นพระเสมือนจริง (Virtual Monk) คนแรกของไทย มีเป้าหมายเพื่อเป็นสื่อเผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่

ดังนั้น จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้บริโภค แต่ก็ต้องระวังการโปรโมตสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย อาทิ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุง หรืออาหารเสริม เนื่องจากเป็นตัวละครสมมติ จึงทำให้สินค้าหรือบริการไม่มีผลต่ออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงได้

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการควรพิจารณาคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการ และเลือกช่องทางการทำการตลาดที่เหมาะสมด้วย

ในปี 2564 บิสิเนสไวร์ (Business Wire) รายงานว่า ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลก มีมูลค่า 13.3 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 109.37 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2571

ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ เติบโตอย่างรวดเร็วจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น

จากการสำรวจของอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง แฟคตอรี่ (Influencer Marketing Factory) ที่รวบรวมความเห็นจากชาวอเมริกันมากกว่า 1,000 ราย ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามติดตามแอคเคาท์ของ อินฟลูเอนเซอร์ เสมือนจริง อย่างน้อย 1 แอคเคาท์

ขณะที่ 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่โปรโมทโดยอินฟลูเอนเซอร์บนโลกเสมือน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo