Business

ถอดรหัส ‘สุกี้ตี๋น้อย’ กำไรโตทะลัก 300%

ถอดรหัส “สุกี้ตี๋น้อย” กำไรโตทะลัก 300% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 148 ล้านบาท ผลประกอบการทั้งรายได้ และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี

ถ้าจะพูดถึงธุรกิจร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงหลายปีนี้ เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นร้านบุฟเฟ่ต์ สุกี้ตี๋น้อย เพราะหลังจากเปิดให้บริการสาขาแรกเมื่อช่วงปี 2560 เพียงไม่นานก็เกิดกระแสบอกต่อจนกลายเป็น Top of mind ของผู้บริโภคภายในเวลาอันรวดเร็ว เวลานึกถึงร้านบุฟเฟ่ต์ที่คุณภาพคุ้มเกินราคาใครๆ ก็ต้องนึกถึงสุกี้ตี๋น้อย ทำให้เป็นบริษัทดาวรุ่งที่โตก้าวกระโดด ทั้งในแง่ฐานลูกค้า และตัวเลขผลประกอบการ
นอกจากนี้ สุกี้ตี๋น้อย ได้ขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 46 สาขา เกือบทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทว่าบริษัทได้เริ่มมีการไปเปิดสำนักงานในต่างจังหวัดมากขึ้น และมีแผนไปเปิดในสาขาใหม่ที่จังหวัดชลบุรี ภายในไตรมาส 3 ของปี 2566 

 กำไรโต

สุกี้ตี๋น้อยรายได้และกำไรโตต่อเนื่อง

โดยล่าสุด บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์สุกี้ตี๋น้อย เพิ่งรายงานผลประกอบการประจำปี 2565 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า น่าสนใจมากเนื่องจากบริษัทเก็บรายได้รวมไปถึง 3,976 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 153% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 1,572 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 591 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 300% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 148 ล้านบาท

จะเห็นว่าผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรของสุกี้ตี๋น้อย เติบโตต่อเนื่องทุกปี แถมเป็นการเติบโตที่เร็วมาก แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ธุรกิจร้านอาหารต่างซบเซาก็ตาม หากเราลองย้อนดูรายได้และกำไรในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2565) เป็นดังนี้

 กำไรโต

คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้และกำไรระหว่างปี 2562 ถึง 2565 ที่ระดับ 108% และ 380% ตามลำดับ

จุดแข็งของสุกี้ตี๋น้อย คือการรักษาคุณภาพของรสชาติอาหารให้คงที่ มีมาตรฐาน ไม่ว่าลูกค้าจะไปใช้บริการสาขาไหน รสชาติอาหารก็เหมือนกัน ด้วยการทำครัวกลาง เพื่อกระจายสินค้าไปยังแต่ละสาขา รวมไปถึงการชูในเรื่องความคุ้มค่าที่เกินความคาดหวัง 

 กำไรโต
ขอบคุณภาพ: เพจสุกี้ตี๋น้อย

ในขณะเดียวกันยังมีกลยุทธ์ขยายสาขาโดยเน้นเลือกทำเลที่ตั้งสาขาแบบสแตนด์อโลน เพราะจะได้มีที่จอดรถจำนวนมาก รวมถึงช่วงเวลาเปิดบริการที่ยาวนานกว่าร้านทั่วไป ส่งผลให้สุกี้ตี๋น้อยเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ทั้งครอบครัว วัยรุ่น วัยทำงาน

นอกจากนี้ ถ้าจำกันได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ได้เข้าซื้อหุ้นสุกี้ตี๋น้อย จำนวน 30% ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท โดยมองว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตสูง จึงมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท

หากย้อนไปเมื่อปลายปีก่อน ตัวเลข 1,200 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นร้านอาหารหน้าใหม่จำนวน 30% ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แตกต่างกันไปว่าเป็นราคาที่สูงเกินไปหรือไม่ แต่มาในวันนี้อาจบอกได้ว่านี่เป็นดีล ที่คุ้มเกินคุ้มสำหรับ JMART เพราะในรายงานงบไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ผ่านมา JMART ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากสุกี้ตี๋น้อย เป็นจำนวน 62.6 ล้านบาทแล้ว  เมื่อคำนวณมูลค่าจากผลกำไรงวดล่าสุด พบว่า P/E Ratio ของสุกี้ตี๋น้อยอยู่ที่เพียง 6 เท่า

 

 กำไรโต
ขอบคุณภาพ: เพจสุกี้ตี๋น้อย

สุกี้ตี๋น้อย เคยประกาศว่าเตรียมจะเข้าตลาดหุ้น ภายในปี 2567 โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีรายได้แตะ 3,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ทำสำเร็จแล้ว และมีสาขาครบ 60 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเงื่อนไขที่สองนี้ก็ถือว่าอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลย และคงสะท้อนกลับมาเป็นผลบวกต่อ JMART ไม่มากก็น้อย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน