Business

เปิดเกณฑ์ ต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย คอนโด-บ้าน-ที่ดิน รวมไว้ที่นี่!!

ต่างชาติซื้ออสังหาฯ ไทย เปิดเงื่อนไขการซื้อ-ถือครอง คอนโด-บ้าน-ที่ดิน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด อ่านรายละเอียดที่นี่

ปัจจุบันพบว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มเจ้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากขึ้น หลังการเปิดประเทศ และการที่ภาครัฐออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติในหลายมิติ

ต่างชาติซื้ออสังหาฯ

ทั้งนี้จากสถานการณ์ต่างชาติซื้ออสังหาฯ ไทย ล่าสุดคือ การไล่ซื้อคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ของทุนจีน และชาวรัสเซียที่นิยมพูลวิลล่าในภูเก็ต ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่า ปัจจุบันกฏเกณฑ์ของประเทศไทย เปิดทางให้ต่างชาติเข้าซื้อหรือถือครองอสังหหาริมทรัพย์ได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่ภาครัฐเอง ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเป้าหมาย เข้าสู่ประเทศไทยประกอบด้วย

1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันชาวต่างชาติสามารถซื้อเพื่อเป็นเจ้าของคอนโดในประเทศไทยได้ แต่จะต้องเป็นชาวต่างชาติ หรือนิติบุคคล ที่เข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

เงื่อนไขต่างชาติซื้อคอนโดไทย

  • เป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้มีที่อยู่อาศัยในไทยได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้ามือง
  • เป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
  • เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นชาวต่างชาติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และได้รับการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
  • การถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดของชาวต่างชาติที่กฎหมายอนุญาตนั้น จะต้องไม่เกิน 49% ของเนื้อที่คอนโดทั้งหมดในโครงการนั้น

shutterstock 1918830599

เงื่อนไขต่างชาติถือครองที่ดินในไทย

  • สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง
  • จะต้องซื้อกับเจ้าของที่ดินที่ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารแสดงสิทธิ์เท่านั้น
  • หากมีการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้ขายก็ต้องมีเอกสารหลักฐานการเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย
  • จะต้องเป็นชาวต่างชาติที่เข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และลงทุนอยู่นานไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ในกองทุนรวมอสังหาฯ เป็นต้น และที่สำคัญยังต้องเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
  • ที่ดินที่ชาวต่างชาติจะซื้อ จะต้องอยู่ในเขต กทม. เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตอยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง และต้องอยู่นอกเขตปลอดภัยในราชการทหาร
  • ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดินได้ จะต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับตนเองเท่านั้น
    หากมีการตรวจสอบว่าทำผิดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องขายคืน
  • หากนำที่ดินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นก็มีสิทธิ์ถูกดำเนินการให้ขายคืนได้

สถานการณ์การโอนคอนโดของชาวต่างชาติ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2565 โดยพบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 3,780 หน่วย เพิ่มขึ้น 82.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเชิงจำนวนหน่วยนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 และเป็นจำนวนหน่วยที่สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2562 และยังมีจำนวนหน่วยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วง 2 ปี ที่เกิดโควิด-19 (ปี 2563-2564) ถึง 80.7% ที่มีจำนวน 2,092 หน่วย/ไตรมาส

สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 19,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95.8% ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2565 และเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2561 และยังเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในช่วง 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมูลค่าเพียงไตรมาสละ 9,979 ล้านบาท/ไตรมาส

สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 2565 มีสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ 11.5% โดยเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงเล็กน้อย ซึ่งมีสัดส่วน 7.7% ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 21.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากพอควร ซึ่งมีสัดส่วน 13.8%

สัญชาติที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด

ในปี 2565 พบว่า ชาวจีน เป็นสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศ โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนไปแล้วทั้งหมด 5,707 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 49.4% ของหน่วยทั้งหมด โดยมี 4 สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย จำนวน 813 หน่วย (สัดส่วน 7%), สหรัฐอเมริกา จำนวน 542 หน่วย (สัดส่วน 4.7%), สหราชอาณาจักร จำนวน 393 หน่วย (สัดส่วน 3.4%) และ ฝรั่งเศส จำนวน 351 หน่วย (สัดส่วน 3%)

หากพิจารณาในปี 2565 จะพบว่าตั้งแต่ ปี 2561 ถึง ปี 2564 ที่มีจำนวนหน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน ตามลำดับ แต่ในปี 2565 กลับพบว่า หน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกเปลี่ยนแปลงดังนี้ จีน, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า 3 อันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สัญชาติที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด

ในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศให้คนต่างชาติทั่วประเทศในปี 2565 จะพบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน เป็นมูลค่าสูงสุด จำนวน 29,038 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 49% ของมูลค่าทั้งหมด

ส่วน 4 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนรองลงมาคือ รัสเซีย จำนวน 2,682 ล้านบาท (สัดส่วน 4.5%), พม่า จำนวน 2,551 ล้านบาท (สัดส่วน 4.3%), สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,389 ล้านบาท (สัดส่วน 4%) และฝรั่งเศส จำนวน 1,912 ล้านบาท (สัดส่วน 3.2%)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo