Business

จับสัญญาณ 7 แบรนด์ค้าปลีกมะกันส่อแววล้มตามห้างเซียร์

ในขณะที่ห้างวอลมาร์ท และโฮลฟู้ดกำลังแข่งขันอย่างหนัก และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดค้าปลีกสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐที่ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มจะประสบปัญหาทางการเงินตามหลังห้างเซียร์ที่ล่าสุดออกมาประกาศปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรเพิ่มอีก 40 แห่งหวังลดการขาดทุน โดยห้างที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่

cierre de tiendas sears eu
ภาพจากเอเอฟพี

1. ห้าง J.C.Penney

J.C.Penney เป็นห้างเก่าแก่และมีประวัติยาวนานไม่แพ้ห้างเซียร์ แต่ปัจจุบัน ห้าง J.C.Penney ค่อนข้างห่างไกลกับคำว่า “ทำกำไร” มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทางห้างมีกำไร 1 ล้านดอลลาร์ไปเมื่อปี 2559 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ขาดทุนมาตลอด รวมถึงในปีนี้และปีต่อไปด้วย ปัจจุบัน มูลค่าตลาดของทางห้างมีไม่ถึง 500 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

2. ห้าง Stage

รายต่อมาคือห้าง Stage ที่แม้จะมีสาขามากกว่า 700 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศแต่เงินสดคงเหลือของบริษัทนั้นมีอยู่แค่ 27 ล้านดอลลาร์ ส่วนมาร์เก็ตแคปนั้นอยู่ที่ 49 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

3. ร้าน Barnes & Noble

นี่คืออีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอเมซอนอย่างไม่ต้องสงสัย ปัจจุบัน เชนร้านขายหนังสือ ร้าน Barnes & Noble มีหนี้สินทั้งสิ้น 178.7 ล้านดอลลาร์ และมีเงินสดหมุนเวียนอยู่เพียง 11.5 ล้านดอลลาร์ บริษัทบอกแต่เพียงว่ากำลังมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ อยู่

https specials
ภาพจากเอเอฟพี

4. ห้าง Stein Mart

สื่อตะวันตกเปรียบห้าง Stein Mart ว่าเป็นห้างที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคน้อยลงเรื่อย ๆ จากส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงกว่า 90% ภายในเวลา 5 ปี รวมถึงผลประกอบการที่ติดลบด้วย ปัจจุบัน ฐานะทางการเงินของบริษัทมีหนี้ให้แบกรับ 49.2 ล้านดอลลาร์ และมีเงินสดไหลเวียนเพียง 10 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

5. ห้าง J. Crew

แม้ชื่อแบรนด์ J. Crew จะไม่ได้เสียหายเหมือนร้านที่กล่าวมาข้างต้น แต่ตัวเลขทางการเงินกลับสะท้อนว่า J. Crew น่าจะดำเนินงานผิดพลาดอย่างหนัก โดยบริษัทมีผลประกอบการขาดทุน 125 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 และขาดทุน 23.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 ซึ่งบางทีแล้วการปรับโครงสร้างองค์กรอาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับ J. Crew

6. ห้าง Neiman Marcus

ห้าง Neiman Marcus ติดอยู่ในลิสต์นี้ด้วยเนื่องจากบริษัทมีการอัปสเกลธุรกิจผิดเวลาไปหน่อย ในช่วงที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ส่งผลให้ยอดขายของห้างไม่เป็นไปตามเป้า แถมยังลดลง 5% ในช่วงปี 2560 นอกจากนั้นยังมีหนี้ให้ต้องแบกรับมากมาย โดยในตอนนี้บริษัทบอกว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้าง และหากไม่สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ การล้มละลายอาจเป็นทางเลือกต่อไป

rite aid

7. ร้านขายยา Rite Aid

Rite Aid เป็นร้านขายยาอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันก็ธุรกิจที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีคู่แข่งอย่าง Walgreens และ CVS รวมถึงคู่แข่งออนไลน์มากหน้าหลายตาเข้ามาท้าชิง ตอนนี้สถานการณ์ที่ยากลำบากก็คือบริษัทยังหาไม่เจอว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน และทำให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะล้มละลายนั่นเอง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์กันตามจริง สถานการณ์ของห้างค้าปลีกที่ย่ำแย่เหล่านี้คือไม่สามารถระบุได้ว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตนเองนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน และจะเข้าถึงได้อย่างไร ดังนั้นการจะเพิ่มยอดขายจึงไม่สามารถทำได้อย่างตรงเป้า และเมื่อทำได้ไม่ตรงเป้า ผลที่ได้รับกลับมาก็ไม่สามารถคาดหวังได้เลยนั่นเอง

Avatar photo