COVID-19

รายได้งาม! 4 เดือน ‘ASQ – ALQ’ ทำเงินเข้าประเทศแล้ว 1,200 ล้าน ย้ำ 6 เกณฑ์สำคัญ

สบส. เผย 4 เดือน ASQ-ALQ สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1,200 ล้านบาท ย้ำทุกแห่งต้องคงมาตรฐานใน 6 หมวด ป้องกันโควิด-19

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสุนนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า  เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศ สามารถเดินหน้า ควบคู่ไปกับการดูแล ป้องกัน มิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine) หรือ ASQ และ สถานที่ควบคุมโรคทางเลือกในระดับจังหวัด (Alternative Local Quarantine) หรือ ALQ จึงเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และประเทศไทย

ASQ ALQ

ทั้งนี้พบว่า ในช่วง 4 เดือนที่มีการดำเนินโครงการฯ สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก และ สถานที่ควบคุมโรคทางเลือกในระดับจังหวัด สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1,200 ล้านบาท โดยการประยุกต์โรงแรมสู่ ASQ และ ALQ จะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานอย่างรัดกุม ใน 6 หมวด จากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย

1. โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม : มีสภาพอาคาร ระบบความปลอดภัยพร้อมใช้งาน แต่ละห้องพัก มีระบบปรับอากาศแยกส่วน มีระบบสื่อสารทางไกลทางการแพทย์ (Telemedicine)

2. บุคลากร : มีพยาบาลอยู่ประจำ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ให้คำปรึกษากับผู้เข้าพักผ่านระบบการแพทย์ทางไกล

3. วัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและอื่นๆ : มีวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าพักอย่างเพียงพอ

4. เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล : มีเวชภัณฑ์ อาทิ แอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย ปรอทวัดไข้ ฯลฯ พร้อมให้บริการ

5. การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน : มีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ/บำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งก่อนจะได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถานกักกันฯ จะต้องมีการสร้างความเข้าใจและให้การยอมรับจากชุมชนโดยรอบ

6. โรงพยาบาลคู่สัญญาปฏิบัติการร่วมและความสะดวกสบายเพิ่มเติม

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ในส่วนของการพัฒนามาตรฐาน ของสถานกักกันฯ ในขั้นต่อไปนั้น คณะกรรมการฯ ก็ได้มีมติให้เข้มงวด และวางมาตรการให้ชัดเจน สำหรับประชาชนผู้เข้ากักกัน ในการใช้พื้นที่ผ่อนคลาย และพื้นที่ออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้ผู้เข้ากักตนเกิดความเครียด

ทั้งนี้ ได้แบ่งผู้เข้ากักกันออกเป็น 4 ประเภทตามความเสี่ยงของประเทศต้นทาง สำหรับการเข้าใช้พื้นที่อนุโลม และผู้เข้ากักตน รวมถึงผู้ประกอบการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างรัดกุม ให้มีความปลอดภัย ไม่แพร่โรคระบาดสู่บุคคลอื่น โดยมีการออกติดตามประเมินผล สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก เป็นระยะ จากคณะกรรมการผู้อนุมัติ

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. จะเป็นผู้ประเมินโรงแรมที่สมัครเข้าร่วมเป็น ASQ

ขณะที่ในส่วนภูมิภาค เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพิจารณาอนุมัติโดย คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด จะเป็นผู้ประเมินโรงแรม ที่สมัครเข้าร่วมเป็น ALQ

จนถึงขณะนี้ มี สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก ที่ผ่านการอนุมัติจำนวน 108 แห่ง และ สถานที่ควบคุมโรคทางเลือกในระดับจังหวัด ที่ผ่านการอนุมัติจำนวน 32 แห่ง สามารถตรวจสอบรายชื่อ สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกทั้ง ASQและALQ ที่ผ่านการอนุมัติได้ที่ หน้าเว็บไซต์ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด-19 กรม สบส. http://www.hsscovid.com

นอกจากนี้ หากพบว่า สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก หรือ ALQ แห่งใดหย่อนมาตรฐาน ทางคณะกรรมการผู้อนุมัติ จะมีการสั่งการให้ลดจำนวนห้องพัก หรือสั่งพักไม่ให้โรงแรมเปิดให้บริการ แล้วแต่กรณีความผิด

“หากทุกแห่งมีการรักษามาตรฐานอย่างเคร่งครัด ก็จะเป็นส่วนช่วยป้องกัน มิให้เกิดการระบาดของ โรคโควิด-19 และ สร้างความเชื่อมั่น ให้พี่น้องประชาชนในภาพรวม ที่สำคัญ ยังเป็นช่องทางในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดึงรายได้เขาสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง”ทันตแพทย์อาคม กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo