General

คกก.โรคติดต่อฯ ไฟเขียว นโยบาย ‘กักกันโรค’ ระดับชาติ รับเปิดประเทศ

คกก.โรคติดต่อฯ ไฟเขียวนโยบายการกักกันโรคระดับชาติ 3 ด้าน กลไกการบริหารจัดการเชื่อมโยงการทำงานระดับชาติและจังหวัด รองรับเปิดประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ นโยบายกักกันโรคระดับชาติ 3 ด้าน มีระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ กลไกการบริหารจัดการเชื่อมโยงการทำงานระดับชาติและจังหวัด

อนุทิน1 3

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่พบในขณะนี้ ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

แต่จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ต้นปี ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดี ตั้งแต่การตรวจคัดกรองอย่างละเอียด ทำให้ค้นพบเร็ว ควบคุมโรคได้ดี ทีมงานสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง ค้นหาเชิงรุก และตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง

“ภาพรวมในเวลานี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้โควิด 19 ทั้งทรัพยากร เวชภัณฑ์ แล็บ ยา แพทย์พยาบาล ที่สำคัญไม่มีผู้ป่วยหนักในไอซียู และอัตราการเสียชีวิตต่ำมากน้อยกว่าร้อยละ 2 ทำให้ประชาชนมั่นใจได้”นายอนุทิน กล่าว

ขณะที่ โจทย์สำคัญในวันนี้ คือ การสร้างสมดุล ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ บนพื้นฐานความปลอดภัยประชาชน ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติ

ดังนั้น การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติ สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือการค้าการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ จึงเป็นนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยังคงความปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคมด้วย

การให้ความเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ

1. จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่

2. พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

3. เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พร้อมกันนี้ ยังได้กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค 10 ข้อ ทั้งด้าน การจัดการสถานที่พัก พื้นที่ส่วนกลางและสถานที่เฉพาะ, มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอนครบตามจำนวนวันที่กำหนด, การคัดกรองการเจ็บป่วย หรือสงสัยติดเชื้อโควิด 19, การจัดการสิ่งแวดล้อม

การบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต, การรวบรวม จัดเก็บข้อมูล, ระบบรายงานเหตุการณ์, การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงาน, การตรวจประเมินสถานที่กักกันโรค และมีวิธีการการตรวจสอบย้อนหลัง เมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ยังเห็นด้วยกับหลักการ เรื่อง การลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน และให้ข้อเสนอแนะ ให้เน้นเรื่องความปลอดภัย การติดตามตัวได้ มีอาการป่วยหรือไม่ เข้มข้นการปฏิบัติตัวแบบ New normal โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo