Economics

‘เงินเฟ้อ’ เดือนกันยายน 2563 ติดลบ 0.70% เหตุราคาพลังงานลดลง

“เงินเฟ้อ” เดือน ก.ย. 63 ติดลบ 0.70% เหตุราคาพลังงานลดลงตามตลาดโลก พร้อมคาดการณ์ไตรมาส 4 ดัชนีติดลบอีก 0.34%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ ทั่วไป) เดือน กันยายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนติดลบ -0.70%

เงินเฟ้อ กันยายน 2563

การลดลงของเงินเฟ้อเกิดจากสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (Ft) ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์ และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป ที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้น 0.25% เมื่อเทียบปีต่อปี

เงินเฟ้อ ในเดือน กันยายน 2563 แม้ว่าจะปรับลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยด้านอุปทานสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง นอกจากนี้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้น

ตลาดสด

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยลง เป็น -0.34% ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมทั้งราคาอาหารสดบางชนิด อาทิ เนื้อสัตว์และผักสดยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ -1.5% ถึง -0.7% มีค่ากลางอยู่ที่ -1.1% โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2563 -0.99%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีนี้ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยติดลบเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาและติดลบจนถึงเดือนกันยายน 2563 รวมแล้วเป็นเวลา 7 เดือนต่อเนื่องกัน โดยตามทฤษฎีแล้ว หากเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน จะถือเป็นภาวะเงินฝืดทางเทคนิค

นอกจากดัชนี เงินเฟ้อ แล้ว ดัชนีชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยหลายตัว ก็บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา ไม่ต่างจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง รายงานฐานะการคลังภาครัฐบาลตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563)

โดยระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ระหว่างเดือนตุลาคม 2562-มิถุนายน 2563 ภาครัฐบาล (รัฐบาล กองทุนนอกงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีรายได้ 2,342,103 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 269,155 ล้านบาท หรือ 10.3%

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,956,492 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 299,908 ล้านบาท หรือ 11.3% จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 614,389 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% ของ GDP และดุลการคลังเบื้องต้นของภาครัฐบาล (Primary Balance) ขาดดุล 471,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.0% ของ GDP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ล่าสุดในไตรมาส 2/2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทย ยังคงขยับขึ้นสวนทางเศรษฐกิจ ที่หดตัวจากผลของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo