World News

‘แบงก์ชาติสหรัฐ’ เปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ปล่อย ‘เงินเฟ้อ’ ขึ้นแรง ปูทางตรึง ‘ดอกเบี้ยต่ำ’

เฟด เปลี่ยนนโยบาย ครั้งใหญ่  “เจอโรม พาวเวล” ประกาศปรับการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ ที่เฟดหวังว่า จะช่วยหนุนการจ้างงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ ให้กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ 

วันนี้ (27 ส.ค.) นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุมประจำปีของเฟด ที่เมืองแจ็กสัน โฮล ภายใต้หัวข้อ “Navigating the Decade Ahead: Implications for Monetary Policy” โดยประกาศถึง การที่ เฟด เปลี่ยนนโยบาย การเงินครั้งสำคัญ  โดยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ  ที่ปล่อยให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิม เพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ

เฟด เปลี่ยนนโยบาย

การเปลี่ยนนโยบายการเงินดังกล่าว ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยลง ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ในช่วงเวลาที่อัตราว่างงานลดลง ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ดีดตัวขึ้น

ก่อนหน้านี้ เฟดมีความเชื่อว่าอัตราว่างงานต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น จนถึงขีดอันตราย ทำให้เฟดดำเนินการล่วงหน้า ด้วยการรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้น

นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อ มีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%

นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะระบุรายละเอียดของการใช้เครื่องมือ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดระหว่างวันที่ 15-16 กันยายนนี้ โดยเฟดจะกำหนดช่วงการปรับตัวขึ้นลง หรือช่วง +/- ของอัตราเงินเฟ้อจากระดับ 2%

ก่อนหน้านี้ เฟดกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน เฟดพบว่าเงินเฟ้อในสหรัฐ มักอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายดังกล่าว ส่งผลให้เฟด มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อต่ำ ทำให้มีแนวคิดที่จะปล่อยให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักการขยายตัวที่อ่อนแอในระยะยาว และอำนาจการกำหนดราคาในระดับต่ำ

หลายคนอาจไม่เห็นด้วยที่เฟดจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปจะสร้างความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ

ประธานเฟดยังได้ระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน แตกต่างจากเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเฟดในขณะนั้น ต้องทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง เพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เฟดต้องหันมาให้ความสนใจต่ออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

นายพาวเวล ยังให้คำมั่น ถึงการทำให้แน่ใจว่า การจ้างงานจะไม่ลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่กว้าง และครบอคลุม ของการจ้างงานสูงสุด ซึ่งสื่อความหมายถึง การยอมรับในความเท่าเทียมกัน และบทบาทในการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยังเป็นการยอมรับถึงความเสี่ยงขาลงในการจ้างงาน และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังรวมถึง คำมั่นสัญญาใหม่ของเฟด ที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างเสถียรภาพด้านราคา และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนต้องตกงาน เศรษฐกิจสหรัฐร่วงลงไปอยู่ในภาวะวิกฤติ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน ก่อนหน้าที่ชาวอเมริกัน จะต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์มองว่า นโยบายใหม่ของเฟด เป็นทั้งการยอมรับในพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งเริ่มมองเห็นเค้าลางมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดแล้ว และยังเป็นการวางแผนสำหรับเฟด ที่จะดำเนินนโยบาย ในโลกที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างอ่อนแอ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย ในระดับต่ำ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เฟด เปลี่ยนนโยบาย

คาด “เศรษฐกิจสหรัฐ” หดตัวเกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สํานักงานวิเคราะห์ และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภา (CBO) ของสหรัฐ เผยแพร่รายงานการคาดการณ์ฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะฉุดให้ เศรษฐกิจสหรัฐ หดตัวลง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ ราว 249 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นายฟิลลิป สเวเกิล ผู้อำนวยการ CBO  ระบุในรายงานว่า มูลค่าผลผลิตจริงสะสมของสหรัฐช่วงปี 2563-2573 จะต่ำกว่าที่สำนักงาน คาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคมประมาณ 7.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 249 ล้านล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งหมายความว่าจีดีพีจริงสะสมของสหรัฐ จะลดลง 3% ในช่วงทศวรรษหน้า

“เราคาดการณ์ว่า การสั่งปิดธุรกิจและมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม จะส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดต่ำลง ขณะเดียวกันราคาพลังงานที่ลดลงเมื่อไม่นานมานี้จะทำให้ปริมาณเงินลงทุนในภาคพลังงานของสหรัฐลดลงอย่างฮวบฮาบ”

นายสเวเกิล บอกด้วยว่า กฎหมายใหม่ของรัฐสภาสหรัฐ จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐ ได้บางส่วน

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐ หดตัวลงอย่างรุนแรง โดย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ  ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวลง 32.9% รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ที่สหรัฐ เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo