Politics

‘นพ.ยง’ เผยระยะฟักตัวของ ‘โควิด’ อยู่ที่ 2-7 วัน ยันไทยควบคุมได้ดี!

“นพ.ยง” วิเคราะห์ “โควิด 19” ระยะฟักตัวของโรค กับ การกักกันป้องกันการติดเชื้อ เผยส่วนใหญ่ระยะฟักตัวจะอยู่ที่ 2 ถึง 7 วัน ชี้ไทยยังถือเอา 14 วัน มองส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ดีแล้ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” โดยระบุว่า โควิด 19 ระยะฟักตัวของโรค กับ การกักกันป้องกันการติดเชื้อ

ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2 ถึง 7 วัน ส่วนน้อยจะอยู่ที่ 7-14 วัน และส่วนน้อยมากๆจะอยู่ในสัปดาห์ที่ 3 คือ 15 ถึง 21 วัน

นพ.ยง

การกักกันตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โควิด 19 จึงขึ้นอยู่กับสภาวะและสถานการณ์ต่างๆ เช่น ในประเทศจีน ไม่ต้องการให้มีเชื้อเลยแม้แต่รายเดียว จีนก็จะใช้มาตรการเต็มที่ในการกักกัน ถึง 21 วัน เพื่อไม่ให้เชื้อ โควิด 19 รอดออกมาได้ จีนเป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเอง และมีเศรษฐกิจเป็นบวก ถึงแม้จะปิดประเทศ

ประเทศไทยเรายังถือเอา 14 วัน เพราะว่า ส่วนใหญ่ก็สามารถควบคุมได้ดีแล้ว ทางตะวันตกที่มีการระบาด บางแห่งถ้ามีมาตรการวินิจฉัยอย่างดี ก็จะเอาที่ 7 วัน และบางแห่งก็ไม่ต้องมีการกักกันตัวเลย เช่น คนไทยจะไปอังกฤษ ก็ไม่จำเป็นต้องถูกกักกันตัวเพราะถือว่ามาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ

การจะกักกันควบคุมกี่วัน ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบ เช่น ถ้าเรามั่นใจว่าเดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำมากๆ เช่น ประเทศจีน นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ในปัจจุบัน ก็อาจใช้ระยะเวลาการกักกันตัวให้สั้นลง เช่น 10 วัน ตรวจเชื้อวันสุดท้ายก่อนออก เพราะขณะนี้การตรวจเชื้อครั้งที่ 2 เฉลี่ยอยู่ในวันที่ 12 อยู่แล้ว และใช้มาตรการอื่นในการติดตาม ความเสี่ยง การแพร่กระจายเชื้อ ให้อยู่เฉพาะบริเวณ และมีการตรวจเชื้อซ้ำ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาติดต่อของโรค

ปัจจุบันวิธีการตรวจมีความไวสูงมาก และทำได้เร็วขึ้น ตรวจเช้าได้เย็น มีห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

หลักการและเหตุผลต่างๆ จะอ้างอิงตามหลักวิชาการ เพื่อลดการกระจายของ โควิด 19 มาสู่ประชากรไทยให้น้อยที่สุด

ในระยะยาวกว่าจะมีวัคซีน ที่รู้แน่ชัดว่าใช้ป้องกันโรคได้ และมีใช้ในประเทศไทย

เราคงต้องมีทุกมาตรการ ตั้งแต่ลดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย และคนไทยทุกคนช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศ ด้วยการดำรงชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด

ในระยะยาวจะต้องอยู่บนจุดสมดุล ที่ทุกคนจะต้องอยู่ได้

เหตุการณ์นี้เคยเปรียบเสมือนวิ่งมาราธอน เรายังวิ่งมาไม่ถึงครึ่งทางจึงต้องมีการผ่อนหนักผ่อนเบา เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้

นพ.ยง

นพ.ยง ได้โพสต์ข้อความก่อนหน้านี้ว่า “โควิด 19 การเปิดเกมรุก” การตรวจการติดโรค โควิด 19 ในช่วงที่มีการระบาดมากหรือช่วงแรกเราตรวจสัปดาห์ละมากกว่า 50,000 ราย แต่ขณะนี้การตรวจลดลงอย่างมากเหลือสัปดาห์ละประมาณ 25,000 ราย
เกณฑ์การตรวจก็ลดลงอย่างมาก

เราไม่อยากเห็น ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลเป็นปอดบวมแล้วค่อยตรวจวินิจฉัยว่าเป็น covid ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่ามีการติดเชื้อโรค มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการอีกเป็นจำนวนมาก

การเปิดเกมรุกในขณะนี้ จะต้องตรวจให้ได้ในผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย

แม้กระทั่งในโรงพยาบาลขณะนี้ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเริ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้รับการตรวจ

เราบอกว่าผู้ป่วยปอดอักเสบทุกรายควรได้รับการสวนหาเชื้อโควิด

ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่เป็นมากกว่า 2 หรือ 3 คน พร้อมกัน เช่น ในโรงเรียน ควรได้รับการตรวจ แต่ความเป็นจริงไม่แน่ใจว่าได้ปฏิบัติแบบนั้นหรือไม่ เพราะกฎเกณฑ์ต่างๆ ยังเป็นปัญหามาก เพราะถ้าให้ ผู้ป่วยออกเองก็ไม่มีใครยอมตรวจ

การเปิดเกมรุก การตรวจวินิจฉัยจะต้องเพิ่มมากกว่านี้ เราคงไม่รอรับ ให้ผู้ป่วยเป็นปอดบวมแล้วค่อยตรวจวินิจฉัย เมื่อถึงเวลานั้น ก็เรียกว่าการระบาดละรอก 2 แล้ว

คงยากต่อการควบคุม เพราะครั้งนี้จะปิดบ้านปิดเมืองอีกคงจะลำบาก ในทางยุโรปขณะนี้เกิดรอบ 2 เกือบทั้งนั้น กฎเกณฑ์การตรวจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK