Business

‘ธอส.’ ส่อง อสังหาฯ ‘ซึมยาว’ ยันปี 65 พิษโควิด-19 ขาดปัจจัยกระตุ้นตลาด

อสังหาฯ ซึมยาว ศูนย์ข้อมูลฯ ธอส. ชี้ตลาดไร้ปัจจัยหนุนฟื้นตัว ฟันธง ซึมต่อเนื่องอีก 2 ปี จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ปี 2566 หวังขยายเพดานลดค่าธรรมเนียมโอน-จอง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาด อสังหาฯ ซึมยาว ต่อเนื่องไปอีก 2 ปี จากภาวะเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจาก ไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีความแน่นอน ว่าจะมีการใช้วัคซีน ออกมารักษาได้เมื่อใด

อสังหาฯ ซึมยาว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้อย่างเร็ว ในปี 2566 เนื่องจาก ไร้ปัจจัยหนุน ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด โดยเฉพาะการขาย และ การโอนกรรมสิทธิ์ กลุ่มที่อยู่อาศัย ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ มีความต้องการซื้อมาก แต่ไม่มีมาตรการใด ออกมาสนับสนุน ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ยังคงชะลอการซื้อ อสังหาริมทรัพย์

“แม้ว่าจะเห็น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้นบ้าง หลังการคลายล็อกดาวน์ แต่เป็นทิศทางการฟื้นตัว ที่ยังคงชะลอตัวอยู่ หรือไม่ได้ฟื้นตัว กลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้มอง ภาพการฟื้นตัวในปี 2564 ยังไม่ดีเท่าที่ควร”นายวิชัย กล่าว

ดังนั้น หากมีการขยายเพดาน มาตรการปรับลดค่าธรรมเนียม การโอน และการจดจำนอง ในกลุ่มระดับราคาสูงกว่า 3 ล้านบาท ก็เชื่อว่า จะทำให้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย กลับมากระเตื้องขึ้นได้ และจะมีเม็ดเงิน เพิ่มเข้ามาหมุนเวียนในระบบ อีกมากกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจไทย ได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มาตรการสนับสนุน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ของภาครัฐ ในการลดค่าธรรมเนียม การโอน และการจดจำนอง เหลือ 0.01% สำหรับบุคคล ที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ที่ยังมีค่อนข้างจำกัด เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่อง ภาระหนี้สิน ค่อนข้างมาก ทำให้เห็น อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ ในระดับสูง

นอกจากนี้ ความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อ ของสถาบันการเงิน ที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลกระทบ ต่อการโอน ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และกระทบมาถึง ภาพรวมของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ยังไม่เห็นการกลับมาฟื้นตัวชัดเจนได้

อสังหาฯ ซึมยาว
วิชัย วิรัตกพันธ์

ทั้งนี้ หากต้องการช่วยเหลือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ที่เป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สินมาก ให้สามารถเข้าถึง การมีบ้านเป็นของตัวเอง และสามารถเข้าถึง การกู้ยืมสินเชื่อ ได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง ควรปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ จากหนี้ระยะสั้น ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นหนี้สิน ที่คนมีรายได้น้อย มีอยู่ค่อนข้างมาก นำมารวมกัน เป็นสินเชื่อระยะยาว ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง

ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำมาเป็นสินเชื่อบ้าน และประเมินวงเงินกู้ที่เหลือ เพื่อดูความสามารถ ในการกู้สินเชื่อบ้านที่เหลืออยู่ ซึ่งจะทำให้คนรายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายรายเดือนลดลง แต่ผ่อนระยะยาวขึ้น สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ และ ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้

สิ่งที่อยากเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากล่าสุด ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ข้อเสนอ 21 ข้อกับนายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือ และ กระตุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย หรือในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เห็นการรับข้อเสนอ ถูกนำออกมาใช้ อย่างเป็นรูปธรรม และ ไม่สามารถช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้อย่างชัดเจน

“การทำงานของ ภาครัฐและเอกชน จะต้องมีการทำงานร่วมกัน อย่างจริงจัง และมีไทม์ไลน์ ออกมาอย่างชัดเจน พร้อมกับให้ความชัดเจน กับภาคเอกชน ว่าข้อเสนอใด สามารถทำได้ หรือ ทำไม่ได้ เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับทราบ เพื่อวางแผนธุรกิจ”นายวิชัย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo