Business

ครม. ไฟเขียวผูกพันงบฯ 68 ล้านบาท ศึกษา ‘Land Bridge’ เชื่อม 2 ฝั่งทะเลใต้

ปัดฝุ่น! ครม. ไฟเขียวผูกพันงบฯ 68 ล้านบาท ศึกษา เมกะโปรเจค “Land Bridge” เชื่อม 2 ฝั่งทะเลภาคใต้ คาดลงนามที่ปรึกษาเดือน พ.ย. นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วานนี้  (15 ก.ย. 63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2566 ในวงเงิน 68 ล้านบาท ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นกรณีเฉพาะราย

ศึกษา Land Bridge

สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้เร่งดำเนินการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในทุกมิติอย่างเคร่งครัดเท่าที่จำเป็น และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอน

ส่วนงบประมาณที่เหลือ ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 โดยให้ สนข. ปรับหรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณแล้วแต่กรณีตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

คาดลงนามจ้าง ศึกษา “Land Bridge” เดือน พ.ย.

แผนการใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษศึกษาโครงการ Land Bridge วงเงินรวม 68 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 17.011 ล้านบาท
  • ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 จำนวน 51.033 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 10.2066 ล้านบาท, ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 20.4132 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 20.4132 ล้านบาท

ท่าเรือ แหลมฉบัง 33

โดย สนข. คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษา Land Bridge ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และดำเนินการศึกษาเป็นเวลา 30 เดือน กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2566

เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว จะได้รับประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จะได้รับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน
รวมถึงมีรูปแบบโมเดลการพัฒนาและการลงทุนที่เหมาะสม

 

นายกฯ ดันเป็นเมกะโปรเจ็คใหม่ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกเปิดเผยว่า วันนี้เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา 2 อย่างพร้อมกัน ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมาก เพราะรายได้ของประเทศลดลง มันจำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่เรากำลังทำให้เกิดขึ้น

ถึงแม้เราจะมีแผนงานโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้วก็ตาม แต่วันหน้าเราก็ต้องมีแผนงานโครงการขนาดใหญ่ในการลงทุนในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ อันนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเรา ทุกอย่างมันต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง EEC ก็เริ่ม 5 ปีแล้ว ก็ไปได้ระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องหาโครงการใหม่

land bridge ประยุทธ์

กำลังดูว่า เราจะเชื่อมการไปมาทั้ง 2 ฝั่งตะวันตก-ตะวันออกได้อย่างไร มันควรจะมีไหม ศึกษาในเรื่องของโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ Land Bridge อะไรทำนองนี้ กำลังให้แนวทางไปศึกษากันอยู่

ผมคิดว่าจะช่วยเศรษฐกิจในระยะยาวได้ในโอกาสต่อไป การขนส่งข้ามฝั่งตะวันตก-ตะวันออก อ่าวไทยกับอันดามัน ท่าเรือต่างๆ ต้องพัฒนาทั้งหมด อันนั้นอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องเดินทางต่อไป ขั้นตอนการศึกษา ขั้นตอนการลงทุน ต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo