General

‘สุพัฒนพงษ์’ มอบนโยบายพลังงาน สานต่องานเดิม เพิ่มเติมกระตุ้นเศรษฐกิจ-สร้างงาน

‘สุพัฒนพงษ์’ มอบนโยบายพลังงาน สั่งศึกษาเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชน เล็งยกระดับไฟฟ้าไทย ขายอาเซียน พร้อมชะลอเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายด้านพลังงาน จะยังเน้นการสานต่อนโยบายเดิมที่ผ่านมา แต่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงการวางรากฐานเพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ

แรงงานพนักงานออฟฟิศ ๒๐๐๘๒๐

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ให้กลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน 30 วัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากให้มากที่สุด แต่ยังคงเปิดรับซื้อไฟฟ้า  ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในปลายปีนี้ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564

ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ก็ให้พิจารณาว่า จะปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากระดับ 1.68 บาท/หน่วยได้หรือไม่ เพื่อจูงใจให้ภาคประชาชนมีความสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้ ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยอื่น ๆ ตามมา

“เรากำลังศึกษาดูว่าจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าชุมชน ให้ผลประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ได้ประโยชน์แก่เกษตรกร เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ใช้ประโยชน์โรงไฟฟ้าเป็นแค่ทางผ่าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร เช่น จะทำโรงไฟฟ้าพืชพลังงาน ก็ต้องมีพื้นที่เพาะปลูก ที่มั่นใจว่าปลูกได้ยั่งยืน เป็นพื้นที่ที่คุ้มค่าทดแทนพืชเศรษฐกิจเดิมที่ไม่คุ้มค่า คาดว่า ปีหน้าก็เริ่มได้”นายสุพัฒนพงษ์

ขณะที่เงื่อนไขการรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น สามารถดำเนินการได้ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ฉบับเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมบทแทรก โดยไม่ต้องรอจัดทำแผน PDP ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 ที่ปัจจุบันยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

โรงไฟฟ้า1

นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมาย ยกระดับโครงสร้างไฟฟ้าให้เป็นระดับภูมิภาค ด้วยการขายไฟฟ้าที่เหลือไปยังอาเซียน เน้นเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งจะต้องสร้างความชัดเจนภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี เนื่องจากไทยยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้ามากถึงราว 40% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ

ด้านนโยบายปิโตรเลียมนั้น ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม จะเร่งรีบเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ จากก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานมีแผนจะเปิดประมูลปิโตรเลียมในปีนี้ เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันในขณะนี้ ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่น่าจะจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมาก และจะทำให้ไม่คุ้มค่า

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไปศึกษาและลองสำรวจความต้องการ ก่อนกลับนำมาเสนออีกครั้ง ซึ่งไม่ได้เร่งรีบมากนัก อย่างไรก็ตามจะมีการเดินหน้าเจรจาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศ

ในส่วนของการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งแก๊สโซฮอล์ E20 และดีเซล B10 ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะจะสามารถช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ ส่วนจะสามารถประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานได้ เมื่อใดนั้น ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งต้องรอรายละเอียดจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก่อนเพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจ ที่จะให้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo