Business

หั่นแล้วหั่นอีก! EIC คาด เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก 7.8% จากเดิมคาดหดตัว 7.3%

EIC คาด เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก 7.8% ประมาณการเศรษฐกิจไทย หดตัวเพิ่ม จากเดิมคาดติดลบ 7.3% ชี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า จากความเปราะบางตลาดแรงงาน การปิดกิจการ

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน เปิดเผยว่า EIC คาด เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก 7.8% จากก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะติดลบ 7.3% ผลจากปัจจัยลบยังรุมเร้า ทั้งภายใน ภายนอกประเทศ

 

เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก 7.8%

ทั้งนี้ เนื่องจาก แม้เศรษฐกิจไทย จะส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ในช่วงไตรมาส 2 ตามการผ่อนคลายของมาตรการปิดเมือง  แต่จากข้อมูลเร็ว (high frequency data) บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มชะลอลง สอดคล้องกับที่ EIC คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอีกหลายประการ

ส่องปัจจัยลบสะเทือนเศรษฐกิจไทย

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ที่ EIC ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน ตามนโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย

ประกอบกับเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้ น้อยกว่าที่คาด หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง(Fiscal cliff) และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง

ดร.ยรรยง กล่าวว่า จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก EIC คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง

ด้านภาวะเศรษฐกิจโลก มีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ในช่วงไตรมาส 2 (bottomed out) แต่มาตรการปิดเมืองที่เริ่มกลับมาเข้มงวดขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในบางประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลง ในระยะต่อไป

Dr Yunyong
ยรรยง ไทยเจริญ

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง

ข้อมูลล่าสุด ยังบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 1-2 เดือนหลังเริ่มปรับชะลอลง สะท้อนจากดัชนี Google mobility ที่ฟื้นตัวชะลอลงในหลาย ๆ ประเทศ

ขณะเดียวกัน เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุน ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยยอดใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในสหรัฐฯ ปรับชะลอลง และยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 การบริโภคภาคบริการในญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ และการลงทุนภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำ

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการปิดเมืองในระยะหลัง จะเน้นการปิดเมืองแบบเฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีความเข้มงวด และมีผลต่อการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น้อยกว่าการปิดเมืองแบบทั่วไป ที่ประกาศใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า EIC ยังคงมุมมองการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยนอกจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลงดังกล่าวแล้ว การปิดกิจการและอัตราการว่างงาน ที่ยังอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดแผลเป็น (scarring effects) ต่อเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในระยะถัดไปได้

รวมถึงมาตรการการคลัง ที่มีส่วนประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา กำลังทยอยหมดอายุลง หรือได้รับการต่ออายุ แต่ในขนาดที่เล็กลงในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก 7.8%

โควิด สร้างแผลเป็นเศรษฐกิจไทย

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย พบว่า หลายภาคส่วนมีการฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลงในช่วงหลัง โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวถึง 12.2% นับเป็นอัตราหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วจากมาตรการปิดเมือง

แต่หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทได้ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และมูลค่าการส่งออก

อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคท่องเที่ยว แม้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดย EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 เหลือเพียง 6.7 ล้านคน

“โควิด-19 ได้สร้างแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย (scarring effects) ทั้งปัญหาการปิดกิจการของธุรกิจ และความเปราะบางในตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรค และความเสี่ยงสำคัญ ต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า”ดร.ยรรยงกล่าว

แผลเป็นสำคัญของเศรษฐกิจไทย ประกอบไปด้วย การปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชน ที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงจะซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน

เห็นได้จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี นอกจากนั้น รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำก็มีแนวโน้มหดตัวลงมาก จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ตามจำนวนงานเต็มเวลา และงานโอทีที่หายไป

เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก 7.8%

ตลาดแรงงานอ่อนแอ เปราะบาง

ขณะที่มีจำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง ซึ่งทั้งสองแผลเป็นดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งในการรักษาเยียวยา โดยหากระดับการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับสูง และยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และการลงทุน ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากระดับเงินฝากที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในทุกขนาดบัญชี หลังการระบาดของโควิด-19 สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เน้นเก็บออมในช่วงเวลาวิกฤติ เนื่องจากยังกังวลต่อความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประชาชนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจลดลง

ด้านมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ คาดว่าจะมีเม็ดเงินช่วยเหลือออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยเม็ดเงินล่าสุดที่ได้รับอนุมติภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 4.75 แสนล้านบาท EIC จึงปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินในส่วนดังกล่าวที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปี 2563 เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการปรับคาดการณ์ GDP ลดลงในรอบนี้

ในส่วนของนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติม หากมีความจำเป็น ภาวะการเงินโดยรวมมีแนวโน้มตึงตัวน้อยลง หลังจากที่ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ ธปท. มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายดอกเบี้ยมากขึ้น EIC ประเมินว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดช่วงปีนี้ ควบคู่กับการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง รวมทั้งมาตรการรองรับปัญหาหนี้เสียและสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น

สำหรับความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการกลับมาระบาดอีกระลอกของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศ หากมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และยังต้องจับตาประเด็นความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะการค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้

นอกจากนี้ เม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด ก็จะเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่คาดได้ รวมถึงยังต้องจับตาผลของการปิดกิจการและความเปราะบางของตลาดแรงงาน (scarring effects) ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ตลอดจน ความเสี่ยงจากเสถียรภาพด้านการเมืองไทยที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo