Business

ธุรกิจการบินทั่วโลก ซบยาวยันปี 67 ถึงจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด

ธุรกิจการบินทั่วโลก ระทมพิษโควิดยาว IATA คาดปี 2567 ถึงจะฟื้นตัวเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ปีนี้คาดผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลกหดตัว 55%

รายงานข่าวจาก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่า การเดินทางทางอากาศ หรือ ธุรกิจการบินทั่วโลก จะไม่สามารถฟื้นตัว สู่ระดับที่เทียบเท่ากับ ในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาดได้จนถึงปี 2567 ซึ่งแย่กว่าที่เคยออกมาคาดการณ์ครั้งก่อนว่า อาจเห็นการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้ในปี 2566

ธุรกิจการบินทั่วโลก

นอกจากนี้ IATA ยังประเมินด้วยว่า จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลก มีแนวโน้มหดตัวลง 55% ในปี 2563 ซึ่งมากกว่าเดิมคาดการณ์ว่าจะหดตัวเพียง 46%

การคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับ นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค ผู้อำนวยการ IATA เคยประเมินว่า อัตราการฟื้นตัวที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ บ่งชี้ว่า ธุรกิจการบิน อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อีกหนึ่งปี จึงจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

นอกจากนี้ ธุรกิจการบินอาจประสบภาวะเลวร้ายลงไปอีก หากยังไม่สามารถรับมือกับไวรัส หรือค้นพบวัคซีนเพื่อมาสกัดกั้นการแพร่ระบาด ของไวรัสโควิด-19 ได้

อย่างไรก็ตาม การเดินทางทางอากาศ ของผู้โดยสารทั่วโลก เมื่อวัดจากระยะทางรวมกันแล้ว พบว่า เริ่มฟื้นตัวขึ้นในเดือนมิถุนายน โดยมีอัตราการหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 86.5% ซึ่งดีขึ้นจากระดับของเดือนพฤษาคม ที่การเดินทางหดตัวลงถึง 91% เนื่องจากหลายประเทศ ประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

แต่แม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัว ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ IATA ยังคงมองว่า ธุรกิจการบินยังต้องเผชิญความท้าทาย จากการที่บริษัทต่างๆ ลดการเดินทางเพื่อธุรกิจลง อันเนื่องมาจากแรงกดดันด้านการเงิน ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ก็ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ จากความวิตกกังวล ในเรื่องการจ้างงาน และความเชื่องช้า ในการรับมือกับไวรัสของสหรัฐ และประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ

ขณะที่ สถานการณ์ธุุรกิจสายการบิน ในประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า สำหรับธุรกิจในกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ธุรกิจบันเทิงและการกีฬา ยานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชัน เหล็ก ยางพารา

ทั้งนี้คาดว่า ธุรกิจในกลุ่มนี้ จะฟื้นตัวไม่ทันปีนี้ แม้ว่าปลดล็อกดาวน์แล้วก็ตาม เนื่องจากยังคงได้ผลกระทบจากโควิด จากมาตการรัฐ และพฤติกรรมของผู้คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อ

ธุรกิจกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่หดหายไป รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในธุรกิจจากภัยธรรมชาติ การแข่งขันภายในธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี กฎระเบียบของภาครัฐ ฯลฯ โดยคาดว่าในปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้ จะกลับจ้างงานได้ ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่จำนวน 5 ล้านคน หรือ มีสัดส่วน 30.9% กระจายไปอยู่ในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และ กลุ่มยานยนต์

ขณะที่ EIC ประเมินว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวราว 60% มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการฟื้นตัวในธุรกิจสายการบิน อย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape โดยคาดว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทย จากเส้นทางระหว่างประเทศ จะหดตัวกว่า 65% มาอยู่ที่ราว 8.2 หมื่นล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาไทยจะลดลงราว 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 เหลือเพียง 13.1 ล้านคนในปี 2563

สำหรับรายได้จากเส้นทางบินภายในประเทศ มีแนวโน้มลดลง 45% มาอยู่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลง

อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัว ของการเดินทาง ภายในประเทศ ของชาวไทย จากความกังวล ในการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ที่ลดลง ของเส้นทางบินในต่างประเทศ และภายในประเทศ มาจากไวรัสโควิด-19 และ ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo