Business

หน้ากากอนามัย ‘ล้นตลาด’ หลังโรงงานผลิตพุ่ง 27 แห่ง หวังลุ้นเปิดขายเสรี

หน้ากากอนามัยล้นตลาด หลังโรงงานผุดพรึ่บแตะ 27 โรงงาน แต่รัฐหมดงบ ตัดยอดรับซื้อ จนต้องหั่นราคาขายต่ำกว่าราคาควบคุม หวังรัฐเปิดขายเสรี

จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจ ตลอดจนภาคประชาชนทุกภาคส่วน แต่เป็นอานิสงค์กับกลุ่มสินค้าทางการแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ที่มีความต้องการอย่างมาก จนส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาส แห่ลงทุนตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัน จนเพิ่มขึ้นถึง 27 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 9 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 4.7 ล้านชิ้น/วัน จนเกิดสถานการณ์ หน้ากากอนามัยล้นตลาด

หน้ากากอนามัยล้นตลาด

ทั้งนี้ เห็นได้จาก การประกาศขายหน้ากากอนามัย ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ประกาศหั่นราคาขายจนต่ำกว่าราคาควบคุม ที่กรมการค้าภายใน กำหนดไว้ชิ้นละ 2.50 บาท โดยราคาต่ำสุดเหลือ 2.20-2.40 บาท จากเดิมในช่วงที่มีความต้องการจำนวนมาก ราคาพุ่งถึงชิ้นละ 15 บาท

ส่วนหนึ่งของการเกิดภาวะล้นตลาดังกล่าว นอกจากการแห่ผลิตของผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นผลมาจากการควบคุมการส่งออก ที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ออกประกาศฉบับที่ 17 ขยายมาตรการควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 รวมไปถึงการผลิตหน้ากากผ้า ที่กลายเป็นอีกคู่แข่งสำคัญในการทำตลาด

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดภาวะล้นตลาด ทำให้ผู้ผลิตต้องพยายามส่งออก โดยข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ครึ่งปีแรก 2563 (มกราคม-มิถุนายน 2563) ไทยส่งออกหน้ากากอนามัย 153,838 กก. มูลค่า 67.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,820 กก. มูลค่า 514,794 บาท

โรงงาน

อย่างไรก็ตาม แม้จะควบคุมการส่งออก แต่พบว่า ประเทศไทย ยังมีการนำเข้าหน้ากากอนามัย 167,101 กก. มูลค่า 335.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 110,074 กก. มูลค่า 12.1 ล้านบาท และหน้ากากกรองฝุ่น รวม 3,385,110 กก. มูลค่า 1,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นำเข้า 3,431,155 กก. มูลค่า 1,452.7 ล้านบาท

ที่สำคัญคือ ล่าสุด กรมการค้าภายใน (คน.) ได้แจ้งมายังโรงงานผลิตว่า ไม่มีงบประมาณจัดซื้อ หน้ากากอนามัย ในรอบเดือน กรกฏาคม 2563 ส่งผลกระทบมีผู้ประกอบการยื่นทีโออาร์ไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ไม่สามารถส่งออกตามคำสั่งซื้อได้ จากก่อนหน้านี้ที่ขอให้ผู้ส่งออก แบ่งขายในประเทศ 50% จากกำลังการผลิตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทางกรมการค้าภายใน ยืนยันกับผู้ผลิตว่า ยังมีความต้องการหน้ากากอยู่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน เพื่อจัดซื้อให้กับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงมหาดไทย อาจปรับลดลงเหลือ 1 ล้านชิ้น/วัน และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ อีก 5 แสนชิ้น/วัน ซึ่งกรมจะไปบริหารจัดการกับโรงงานเอง ส่วนที่เกินความต้องการของภาครัฐจะปลดล็อกให้ขายสู่ตลาดได้

corona 5277306 1280

ดังนั้น ในแง่ของผู้ผลิตเอง จึงต้องการให้ ภาครัฐ ยกเลิกการควบคุมราคา และยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการผลิตที่ต้องขายให้ภาครัฐ 50% รวมปลดล็อกการส่งออก เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน ตามกระบวนการค้าเสรี

นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ได้แจ้งผู้ประกอบการว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ในประเทศไทย จึงให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เดิมเคยจัดซื้อแจกให้โรงพยาบาลและหน่วยราชการ สามารถจัดซื้อตามกระบวนการปกติ รวมทั้งจะมีการแก้ไขประกาศ กกร. เพื่อให้ส่วนต่างที่เกินความต้องการรับซื้อของรัฐ สามารถขายให้เอกชนได้

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า การกระจายหน้ากากอนามัย ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แบะเป็นการจัดซื้อโดยรัฐทั้งหมด

อ่านข่าวทั้งหมด

Avatar photo