COVID-19

‘อ.เจษฎา’ เปิดผลวิจัย ‘ประท้วง’ ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ทำให้ยอดติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง

“อ.เจษฎา” ยกผลวิจัยเคสจอร์จ ฟลอยด์ “ประท้วง” ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ทำให้ยอด “โควิด-19” พุ่ง แถมตัวเลขติดเชื้อใหม่ยังลดต่ำลงอีก

วันนี้ (22 ก.ค. 63) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลผลวิจัย แสดงการเชื่อมโยงระหว่างการชุมนุมประท้วงและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า

เจษฎา ประท้วง โควิด-19

“งานวิจัยบอกว่า การประท้วง (อย่างถูกสุขลักษณะ) ไม่ได้ทำให้จำนวนของผู้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสพุ่งสูงขึ้น”

หลายคนมีความเป็นห่วงว่า การชุมนุม ประท้วง ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นั้นน่าจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโรค covid-19 เป็นอย่างมาก

แต่ผลการวิจัยหนากว่า 60 หน้าของนักเศรษฐศาสตร์จาก the National Bureau of Economic Research กลับให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจว่า การเดินขบวนประท้วงที่จัดขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวกรณีการเสียชีวิตของ George Floyd กลับไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิคพุ่งสูงขึ้นในหลายๆ เมืองใหญ่ที่มีการประท้วง !

ช่วงที่เกิดกรณีการเสียชีวิตของ Floyd ขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเตือนเป็นการใหญ่ว่า การตะโกนโห่ร้องในพื้นที่แออัดของกลุ่มผู้ประท้วง จะทำให้เชื้อไวรัสแพร่อย่างรวดเร็ว และนำไปให้หายนะจากการระบาดของโรค

แต่ผลการวิจัยกลับ “ไม่พบ” หลักฐานว่า การประท้วงในเมืองต่างๆ ยาวนานกว่า 3 สัปดาห์นั้น จะไปเร่งให้เกิดการเพิ่มสูงขึ้นของโรคโควิดแต่อย่างไร

รูปปั้นโคลัมบัส

ในทางตรงกันข้าม กลับพบว่า เมืองต่างๆที่มีการประท้วงนั้น ผู้คนมีพฤติกรรมด้านการเว้นระยะห่างกับสังคม (social distancing) ดีขึ้นกว่าเมืองที่ไม่ประท้วงอีก แถมคนที่ไม่อยากร่วมประท้วงก็เก็บตัวอยู่กับบ้าน … เลยกลายเป็นว่า ในเวลาต่อมา กลับทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ ลดลงเสียด้วยซ้ำ

ผลการศึกษานี้ สอดคล้องกับผลการตรวจหาเชื้อโรค covid-19 ในหลายเมืองที่เป็นจุดใหญ่ของการชุมนุม ประท้วง

ตัวอย่างเช่น ที่เมือง Minneapolis ซึ่งมีการตั้งศูนย์ตรวจในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง และตรวจผู้คนไปมากกว่า 15,000 คน แต่พบว่ามีเพียงแค่ 1.7% ที่มีผลเป็นบวก ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งรัฐซึ่งอยู่ประมาณ 3.6%

มีรายงานด้วยว่า ผู้ที่เข้าร่วมประท้วงที่เมือง Minneapolis นั้น มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่า 1% เสียอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า อัตราการติดเชื้อที่ต่ำนี้สะท้อนให้เห็นว่า เป็นผลจากการที่คนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากมาเข้าร่วมชุมนุมประท้วง รวมทั้งมีการเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ในฝูงชนด้วย

สัปดาห์หน้านี้ เคยมีรายงานมาก่อนนะว่า ไม่ใช่การประท้วง (protest) แต่เป็นงานปาร์ตี้ (party) ต่างหากที่เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสพุ่งขึ้นในรัฐวอชิงตัน … เจ้าหน้าที่เชื่อว่า การรวมกลุ่มทางสังคม อย่างเช่น การจัดงานปาร์ตี้ ซึ่งผู้คนไม่สวมหน้ากากอนามัยนั้น คือสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของเชื้อ

ประท้วง โควิด-19
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

ผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกานี้ ก็สอดคล้องกับกรณีของประเทศอังกฤษ ที่การประท้วง Black Lives Matter ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ไม่ได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในกรุงลอนดอนพุ่งขึ้นแต่อย่างไร

ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในลอนดอนหลายครั้ง มีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึงหลักหมื่นคนในวันที่ 6 มิถุนายน ในขณะที่โรคโควิดก็ยังไม่หายไป

แต่น่าจะเพราะความพยายามในการป้องกันโรค เช่น มีสตาฟกดเจลแอลกอฮอล์ใส่มือทุกคน และเน้นย้ำให้ทุกคนใส่หน้ากาก รวมถึงความพยายามที่จะอยู่ห่างกัน เพื่อให้เกิด social distancing .. พบว่า แม้เวลาผ่านไปแล้วเป็นเดือนๆ ก็ไม่ได้ปรากฏยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น (ดูรูปกราฟประกอบ) ทั้งที่การตรวจหาเชื้อโควิดของทั้งสหราชอาณาจักร ก็ดำเนินไปอย่างทั่วถึง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 120,000-140,000 รายต่อวัน !

ข้อสรุปคือ แม้จะมีการจัดชุมนุม ประท้วง เดินขบวนทางการเมืองก็ตาม แต่ถ้าจัดอย่างเหมาะสม โดยเน้นหลักสุขอนามัย เช่น การใส่หน้ากากอนามัย รักษาความสะอาดของมือ อยู่ห่างกันในระยะที่เหมาะสม ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค covid-19 เพิ่มขึ้น แต่อย่างไร

ประท้วง โควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนมิถุนายน 2563 ชาวสหรัฐได้ออกมาชุมนุม ประท้วง เรียกร้องความยุติธรรมให้ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจจับกุม โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพออกมาเตือนว่า การรวมตัวของผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนที่ออกมาประท้วงบนท้องถนนทั่วสหรัฐ อาจเร่งให้การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 รวดเร็วยิ่งขึ้น

“การรวมตัวขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐ ส่งผลให้เกิดการติดต่อใกล้ชิดและขาดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แม้ผู้ชุมนุมจำนวนมากสวมหน้ากาก แต่โอกาสติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 กองทัพสหรัฐเปิดเผยว่าสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) หลายรายที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการ ประท้วง ครั้งใหญ่สืบเนื่องจากปมการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์  ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ มีผลตรวจ โควิด-19 เป็นบวก

แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีข้อมูลหรือรายงานที่ยืนยันชัดเจนว่า การชุมนุมประท้วงกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหญ่ตามมา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสหรัฐยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากสุดในโลก โดยนับถึงเมื่อวานนี้ (20 ก.ค. 63) ตามเวลาท้องถิ่น มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสะม 3,961,429 คน และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม อยู่ที่ 143,834 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo