Politics

‘วิชา มหาคุณ’ ยันพร้อมไขคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ให้กระจ่าง จ่อประชุม 1 ส.ค.นี้

“วิชา มหาคุณ” ยืนยันพร้อมตรวจสอบคดี “บอส อยู่วิทยา” ให้กระจ่าง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทย คาดเริ่ม ประชุมนัดแรก 1 ส.ค. นี้

นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง ว่า ขณะนี้ กำลังเตรียมการประชุมนัดแรก ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ โดยคาดว่า จะเริ่มประชุมนัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กำลังประสานกับฝ่ายเลขานุการว่า จะสามารถเตรียมการ และนัดประชุมได้ทันหรือไม่ ส่วนระยะตรวจสอบ 30 วัน เชื่อว่าน่าจะดำเนินการได้เร็วกว่านั้น น่าจะใช้เวลาสัก 2 สัปดาห์

วิชา มหาคุณ บอส

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า รู้สึกกดดันกับการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นห่วงเรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่า ข่าวออกมาจากต่างประเทศก่อน และจะมีผลกระทบในเรื่องการลงทุน โดยอ้างกระบวนการยุติธรรม ว่าเราใช้ไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น เราต้องเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน และประชาชนให้กลับมาโดยเร็วที่สุด

“เราต้องหาความจริง ไม่ใช่หาข้อเท็จจริง 2 อย่างต่างกัน เราจะต้องไต่สวนและตรวจสอบเพื่อให้ได้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังว่ามีอะไร และมีบกพร่องอย่างไร สุดท้ายถ้าพบว่ามีข้อบกพร่อง ทั้งด้านข้อกฎหมายที่มีอยู่ หรือระเบียบข้อบังคับ ก็ต้องนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวอีกว่า ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการฯ มีอำนาจและสามารถเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวมาให้ข้อมูล ส่วนการที่อัยการสูงสุดและตำรวจก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย เราจะไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องของการสั่งการของ 2 หน่วยงาน แต่อาจเชิญ 2 หน่วยงานมาให้ข้อมูล เพื่อประโยชน์ของประชาชน

บอส อยู่วิทยา นายก297631

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี “บอส อยู่วิทยา” โดยระบุว่า คำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563

เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

โดยเนื้อหาคำสั่งระบุว่า ตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี

ต่อมาคดีบางข้อหาได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายซึ่งรวมถึงบุพการี บุตรและคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเอง และ ขอทราบสรุปพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนินคดีใหม่ เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแก่คดี หรือ ขอความเป็นธรรม และ ความช่วยเหลือจากรัฐ

โดยที่คดีนี้ อยู่ในความรับรู้ และความสนใจ ของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอด นับแต่เกิดเหตุเมื่อปี 2555 เมื่อปรากฏผลการสั่งคดี อันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นตัน ก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง

ถือเป็นความอ่อนไหว กระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และ กระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจ และ การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชา ของฝ่ายบริหาร และ แม้พนักงานสอบสวน จะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมาย และ ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม

แต่กรณีนี้ มีเหตุพิเศษ ที่สังคมควรมีโอกาสทราบ ในส่วนของข้อเท็จจริง และ ข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์ และ บุคคลผู้เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใส และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งหากมีส่วนใด ที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนากระบวนการยุติธรรม มีประสิทธิภาพเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ประกอบด้วย

1. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ

2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ

3. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ

4. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย กรรมการ

5. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรรมการ

6. นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย กรรมการ

7. คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ

8. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการ

9. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรรมการ

10. ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ

กรรมการตาม (4) และ (5) อาจมอบหมายกรรมการ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านนั้น ๆ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในคดี เข้าร่วมประชุมแทนได้ ให้ประธานกรรมการ แต่งตั้ง ผู้ช่วยเลขานุการได้มีจำนวนไม่เกินห้าคน

ข้อ 2 คดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนตามคำสั่งนี้ หมายถึง คดีตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้น

ข้อ 3 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่ และ อำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ข้อกฎหมายในคดีตามข้อ 2 และ เสนอแนะแนวทาเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือ วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใด โดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่ และ อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน สามสิบวัน นับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ ทุกสิบวัน

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ มีอำนาจเชิญ หรือ ประสานขอความร่วมมือ หรือ ขอเอกสารต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ หรือ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือ ขอความเห็น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการ

คณะกรรมการอาจรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และ พิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชนได้

ข้อ 4 ให้คณะกรรมการตามข้อ 1 และผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

คณะกรรมการ อาจแต่งตั้ง คณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อพิจารณาศึกษา หรือ ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงาน ได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

เบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่ง และ ค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักงาน ป.ย.ป.

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo