Business

‘ออมสิน’เปิดโพย 3 กลุ่มธุรกิจฟื้น ‘เร็ว-กลาง-ช้า’ แนะยุทธวิธีรับ ‘New Normal’

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน เผยธุรกิจหลังโควิด แบ่ง 3 กลุ่มตามประเภทการฟื้นตัว ชี้ สายการบิน รถยนต์ อสังหาฯ เชื้อเพลิง อ่วมสุด พร้อมแนะกลยุทธ์ปรับตัวรับ New Normal

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลังโควิด-19 โดยพบว่า ยแต่ละธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากน้อยแตกต่างกันไปตามโครงสร้างของธุรกิจ ประเภทของธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการ ความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านการเงิน ทำให้การฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจมีระยะเวลาแตกต่างกันไป

ปัจจัยในการเติบโตของธุรกิจ

ทั้งนี้ ได้ยแบ่งธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม ภายใต้สมมติฐานเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลัง และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว

ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโดยสารทางบกและทางน้ำ, สื่อสาร, คลังสินค้า, ไปรษณีย์/การรับส่งของ, ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร, ธุรกิจสุขภาพ , โมเดิร์นเทรด, ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์/การแพทย์, ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์/รถจักรยานยนต์, ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการศึกษาออนไลน์

2. กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ปานกลาง

ธุรกิจการขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวทางบกและทางน้ำ, โรงแรม, ตัวแทนธุรกิจเดินทาง/นำเที่ยว, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม, บันเทิง, ธุรกิจขายส่งขายปลีกรายย่อย, ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม, ธุรกิจผลิตกระเบื้อง/เครื่องปั้นดินเผา/ผลิตภัณฑ์แก้ว, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจกระดาษ, เคมีภัณฑ์, เหล็ก, ธุรกิจผลิตซีเมนต์/คอนกรีต, ประมง, ก่อสร้าง, สถาบันการเงิน, ประกัน และธุรกิจการศึกษา

ออมสิน

3. กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ช้า

ธุรกิจขนส่งทางอากาศ (สายการบิน), ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง, รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง ง และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กองทุนการเงินะรหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจมีแนวโน้มหดตัวสูงถึง 5.3% และ  6.7% ตามลำดับ

ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าในระดับที่สูงมาก ระบบเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอกรุนแรง ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัว/หดตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นอาเซียนที่มีสัดส่วนส่งออก 25.5% สหรัฐฯ  12.8%, จีน 11.8%, ญี่ปุ่น 10%) และอียู 8.6% เป็นต้น

ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ชาติชาย พยุหนาวีชัย

นอกจากเศรษฐกิจไทยนอกจากจะได้รับผลกระทบจากรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่หายไปแล้ว ยังได้รับผลกระทบเพิ่มจากมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสของภาครัฐ โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ พื้นที่และหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไปเนื่องจากอาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานและธุรกิจในช่วงที่มีปัญหาต่อเนื่องกันหลายเดือน หรืออาจเป็นธุรกิจที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้ไม่สามารถก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้

สำหรับในระยะยาว ธุรกิจควรต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของธุรกิจ รวมถึง New Normal ใหม่ ๆ อาทิ

  • การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงานในระยะยาว รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในด้านการค้า การตลาด การชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยี AR มาใช้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถลองสินค้าผ่านภาพเสมือนจริงและตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

เทคโนโลยี

  • การพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และควรเตรียมพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ กับความต้องการใหม่ๆ New Normal ใหม่ๆ ที่จะเน้นใช้งานสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น
  • การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการค้าและการลงทุนของโลก หลังโควิด-19 ที่หลายประเทศคาดว่าจะลดความยาวของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ลง รวมถึงลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าหรือการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่ง และหันไปกระจายการผลิต หรือนำเข้าสินค้าจากหลายๆ ประเทศแทน ตลอดจนอาจมีการลดการลงทุนทางตรง (FDI) จากการที่บริษัทข้ามชาติในหลายประเทศกลับไปผลิตที่ประเทศตนเอง

“เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์, การพิมพ์ 3 มิติ และไอโอที จะทำให้การผลิตทำได้โดยง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากเหมือนในอดีต เพื่อลดความเสี่ยงจากซัพพลายเชนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการปิดประเทศ”นายชาติชายกล่าว

Avatar photo