COVID-19

ระวัง! โควิด-19 คลื่นลูก 4 กระทบ ‘สุขภาพจิต’ ต่อเนื่อง 3 ปี ก่อปัญหาสังคม-ปมฆ่าตัวตาย

“เครียด” คลื่นลูกที่ 4 โควิด-19 ก่อปัญหาสุขภาพจิต ประเมินกระทบต่อเนื่องนาน 3 ปี กรมสุขภาพจิต วาดฉากทัศน์รุนแรง ส่งผลฆ่าตัวตายพุ่งเป็น 8.8 คนต่อแสนประชากร เร่งสร้าง “วัคซีนใจ” 3 ระดับ บุคคล-ครอบครัว-ชุมชน เน้นสร้าง “พลังบวก” ให้เห็นทางออกของทุกปัญหา

wave 1913559 640

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเบาบางลง แต่คลื่นลูกที่ 4 กำลังตามมาติดๆ ทำวงการจิตแพทย์กังวล เหตุเพราะ “ปัญหาสุขภาพจิต” ที่เกิดจากผลกระทบของโควิด ซึ่งในระยะ 2-3 เดือนแรก เริ่มปะทุขึ้นแล้ว จากข่าวคราวที่ปรากฎ และประเมินว่าจะต่อเนื่องถึง 3 ปีจากนี้ เช่น อาการเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย การติดสุรา ยาเสพติด ความรุนแรงในสังคม หย่าร้าง และปัญหาสังคมอื่นๆ ส่วนบุคลากรการแพทย์ก็เกิดภาวะ “หมดไฟ”

window view 1081788 640

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลกระทบที่รุนแรงที่สุด คือ สถานการณ์การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยเขาย้อนในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 ว่ามี 5 ปัจจัยสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทย เช่น ปัจจัยด้านความสัมพันธ์, สุรา, การป่วยกายจิต แต่ปัจจัยนี้มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ปัจจัยปัญหาเศรษฐกิจ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563

ทั้งนี้เราได้สร้างฉากทัศน์ จำลองแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายไว้ เพื่อเตรียมการรองรับ โดยหากไม่เข้าไปจัดการ ปล่อยให้ปัญหารุนแรง จะมีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 8.8 คนต่อแสนประชากร จากปัจจุบัน 6.6 คนต่อแสนประชากร เราไม่อยากให้เป็นตัวเลขนั้น พยายามควบคุมตัวเลขไม่ให้เกิน 8 คนต่อแสนประชากร

” เทียบตอนต้มยำกุ้ง ปี 2540 ตอนนั้นมีอัตราการเสียชีวิต จากการฆ่าตัวตาย 6 เศษๆต่อแสนประชากร  หลังปี 2540 ยังกระทบ โดยอัตราเพิ่มเป็น 8 กว่าหลังจากนั้น 3 ปี แล้วถึงลดลง 10 ปีให้หลัง ในปี 2562 เหลือ 6 เศษๆต่อแสนประชากร ” 

ปัญหาทางสุขภาพจิต นอกจากสะสมรุนแรง ไปถึงการฆ่าตัวเองแล้ว ยังมีผลกระทบอื่นๆอีก ซึ่งน่าเป็นห่วง ไม่น้อยไปกว่ากัน  นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่าตอนนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดแล้ว เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตของคนในพื้นที่ ให้เป็นปัญหาที่มีความสำคัญ

สำหรับการทำงานของกรมสุขภาพจิต ได้แบ่งประชากรในการเข้าไปดูแล ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อ บุคลากรการแพทย์ ที่เกิดภาวะหมดไฟ กลุ่มเปราะบางต่างๆ ได้แก่ ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ผู้ด้อยโอกาส ผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพจิตได้ง่าย รวมถึงประชาชนทั่วไปเราก็เข้าไปดูด้วย แต่จะเน้นเกาะติดกลุ่มเสี่ยงก่อน ในส่วนของบุคลากรนั้น เราไปดูแลแล้วราวๆ 50% และที่เหลือจะรีบเข้าไปดูแล ขณะเดียวกันจะเร่งเข้าไปดูแลกลุ่มอื่นๆให้ครอบคลุม

กลไกในการทำงานที่วางไว้ คือ การเสริมสร้างพลังด้วย “วัคซีนใจ” ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย วัคซีนใจในบุคคล วัคซีนใจในครอบครัว และวัคซีนใจในชุมชน

ในส่วนของ “วัคซีนในในบุคคล” เราจะคัดกรองเชิงรุก เฝ้าระวัง และให้คำปรึกษาเชิงรุก ทั้งระบบโทรศัพท์ ไลน์ และแอปพลิเคชั่น ให้เข้าถึงบริการให้มากที่สุด และมีเว็บไซต์ ประเมินความเครียดของตัวเอง รวมถึงทำงานกับครอบครัว และชุมชน ให้พร้อมไปสู่ชีวิตวิถีใหม่

team spirit 2447163 640

” อึด ฮึด สู้ เป็นคาถาที่เราพยายามโปรโปท ให้ทุกคนก้าวข้ามไปได้ และปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ เพราะวิถีเดิมทำไม่ได้แล้ว จากเหตุของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเล็กมาก ไม่รู้ว่าโรคนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรในอนาคต” 

สำหรับครอบครัว ต้อง มีวัคซีนใจในครอบครัว แม่บ้าน หรือหัวหน้าครอบครัวต้อง มี 3 พลัง เพื่อทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง และก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ ดังนี้

  • พลังบวก ทำให้ครอบครัวมองบวกไว้ และเห็นทางออกของปัญหา
  • พลังยึดหยุ่น ให้คนในครอบครัวปรับตัว ทำหน้าที่แทนกันได้ และช่วยเหลือแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น
  • พลังร่วมมือ ทำให้ครอบครัวปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรค

ส่วน “วัคซีนใจชุมชน”  จะต้องทำให้ชุมชนรอบตัว เป็นที่ที่ปลอดภัย สงบ มีความหวัง ไม่กล่าวโทษกัน เข้าใจและให้โอกาส ทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ในการช่วยดูแลคนในชุมชน ให้ก้าวผ่านปัญหาวิกฤติ ทั้งการติดเชื้อ และวิกฤติทางจิตใจ ทั้งนี้หากผู้ใดประสบปัญหา ขอให้นึกถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต โทรได้ 24 ชม.

 

 

 

Avatar photo