COVID-19

กรมสุขภาพจิตย้ำ ปมฆ่าตัวตาย ‘ปัญหาความสัมพันธ์’ อันดับหนึ่ง

กรมสุขภาพจิตย้ำ ปมฆ่าตัวตาย “ปัญหาความสัมพันธ์” อันดับหนึ่ง บวกปัจจัยร่วม ทะเลาะกับคนใกล้ชิด-น้อยใจ-หึงหวง ระบุระดมน้กวิจัย-นักวิชาการ ศึกษาเหตุปัจจัยการฆ่าตัวตาย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ใน 2 สัปดาห์ ย้ำขอคนใกล้ชิดดูแลกัน และนึกถึงสายด่วนสุขภาพจิต 1323 

people 1492052 640

การฆ่าตัวตายในสังคมไทยกำลังเป็นดัชนีชี้วัดของคนในสังคม ถึงความรุนแรงของปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 แต่การเหมารวมของเคสการฆ่าตัวตายในช่วงเวลานี้กับปัจจัยเดียวเรื่องผลกระทบทางเศรษฐจากพิษโควิด อาจยังเป็นคำถาม ? เพราะแต่ละบุคคลมีปัจจัยสลับซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น มีความสลับซับซ้อน และเกิดจากกลุ่มปัจจัย ที่มีการซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัย ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อันดับหนึ่ง คือ ปัญหาความสัมพันธ์  รองลงมา คือ การใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ

ในช่วงปี 2563 นั้น กรมสุขภาพจิต ได้ทำการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตาย ในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้น กว่าค่าเฉลี่ยในทุกปี ตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤติ และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ จะมีบทบาทมากขึ้น และอัตราส่วนที่สูงขึ้น

แต่ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว ปัจจัยที่พบร่วมด้วย ได้แก่

  • การทะเลาะกับคนใกล้ชิด
  • ความน้อยใจ
  • ความหึงหวง

แต่หากบุคคลใด ต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอย่างรุนแรง แต่มีทักษะการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และมีคนที่เข้าใจอยู่รอบข้าง ก็จะเป็นปัจจัยปกป้องช่วยลดความเสี่ยง ในการฆ่าตัวตายได้อย่างดี

“การระบว่า ปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่ง เช่น เศรษฐกิจหรือนโยบาย เป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้น อาจก่อให้เกิดการมองข้ามความสำคัญในการจัดการกับปัจจัยอื่นๆที่มีร่วม หรือมองข้ามการใช้ปัจจัยความเข้มแข็งอื่น เป็นเครื่องป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย “

กรมสุขภาพจิตจะยังคงดำเนินการติดตามปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหาในทุกมิติ ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทยต่อไป

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ บอกใน 3 ประเด็น ได้แก่

1. จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปี 2562 จากการรวบรวมโดยเก็บข้อมูลจากมรณบัตร และใบรายงานการตาย พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ เท่ากับ 6.64 ต่อแสนประชากรต่อปี มากกว่าการประมาณการทั่วไปเล็กน้อย ซึ่งค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนหน้านี้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 6 – 6.5 ต่อแสนประชากรต่อปี ก่อนที่ภาวะโควิดจะระบาด ในขณะนี้ยังมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด

แต่มีทิศทางเดียวกับตัวเลขการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก ที่ได้ประกาศมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ประเทศอังกฤษ อยู่ที่ 11.4 ต่อแสนประชากร สูงสุดในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา และสหรัฐ ที่ตัวเลขสูงขึ้นทุกปี 13 ปี ติดต่อกัน

2. สำหรับจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยและกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และเปรียบเทียบฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำที่สุด

โดยปกติแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนี้ ในประเทศต่าง ๆจะใช้เวลา 3-6 เดือน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ แต่กรมสุขภาพจิต เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่เร่งด่วน และอยู่ในความสนใจของประชาชน จึงจะดำเนินการนำเสนออย่างรวดเร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

พร้อมทั้งผลักดันมาตรการให้รายงานข้อมูลการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเอง (รง 506S) จากหน่วยบริการทั่วประเทศ ให้เป็นปัจจุบันและรายงานข้อมูลผ่านหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต

3. สำหรับข้อมูลการประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในปีนี้ ซึ่งมีการระบาดของโควิด มีแนวโน้มจะสูงขึ้นมากทั่วโลก ในขณะนี้กรมสุขภาพจิตกำลังระดมนักวิจัย และนักวิชาการด้านสุขภาพจิต เร่งสร้างประมาณการด้วยวิธีการที่แม่นยำ

อย่างไรก็ตามประมาณการตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก และมีปัจจัยจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวเลขประมาณการณ์นี้ กรมสุขภาพจิตจะนำเสนออย่างรวดเร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้เช่นเดียวกัน

สำหรับการดำเนินงานในขณะนี้ กรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด ได้แก่

1) การเพิ่มระดับการเฝ้าระวัง สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย ทั้งจากระบบรายงานและที่ปรากฏเป็นข่าว

2) การระบุกลุ่มเสี่ยง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ควบคู่ไปกับการประสานให้แต่ละหน่วยบริการทราบถึงแนวทางการดูแลช่วยเหลือจิตใจ ทั้งการดูแลด้วยกระบวนการบำบัดแบบสั้น และการป้องกันภาวะสุขภาพจิตตามระดับความรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระดับรุนแรง จะต้องได้รับการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนปลอดภัย ไม่กลับมาทำร้ายตนเองซ้ำอีก

3) การดำเนินงานเสริมความเข้มแข็งทางใจ ทั้งการสร้างวัคซีนใจบุคคล และการสร้างวัคซีนใจชุมชน ทั้งในกลุ่มเขตเมืองและกลุ่มนอกเขตเมือง ผ่านการใช้กลไก บ้าน วัด โรงเรียน ในการขับเคลื่อนร่วมกัน และสนับสนุนมาตรการเข้มข้นเรื่องการจำกัดการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดอื่นๆ

นอกจากนั้นกรมสุขภาพจิตยังดำเนินงานเปิดช่องทางปรึกษาพิเศษ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 41 เลขหมายทั่วประเทศ เพื่อให้มีสภาพจิตใจ ที่พร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งได้มีการเพิ่มคู่สายเป็นจำนวนสองเท่าตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้ช่องทางไลน์แอด “KhuiKun” และแอปพลิเคชั่น “SABAIJAI” เพื่อเข้าถึงความช่วยเหลือที่มากขึ้น

” เราทุกคนกำลังต้องต่อสู้กับวิกฤตที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวเลขการฆ่าตัวตายที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีก่อน ทำให้ทุกคนต้องตระหนัก และหันมามองปัญหาด้านสุขภาพจิตว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว กรมสุขภาพจิต กำลังทำงานเชิงรุก ให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้พี่น้องประชาชนสนใจ และดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง คนรอบข้าง และครอบครัว รับฟังและเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันดึงพลังแฝงที่มีอยู่ในใจทุกคน ให้ “อึด ฮึด สู้” และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน”  

แรงงานไทย

ทางด้านนพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสรุปบทเรียนจากการก้าวผ่านวิกฤต โดยแนะนำว่า การก้าวผ่านสถานการณ์ ในขณะนี้พี่น้องชาวไทยต้องรับมือด้วย “ 5 พลังใจที่สร้างสรรค์” ดังนี้

1. ตั้งสติ ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง เมื่อวิกฤตเข้ามาในชีวิตตั้งสติให้ดีอย่าเพิ่งท้อใจหรือหมดหวัง

2. ปรับตัวและปรับใจ กล้าเผชิญกับปัญหาที่เข้ามา ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจปรับเปลี่ยนตัวเอง และปรับใจที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เข้ามาให้ดีขึ้น

3. สำรวจความสามารถของตนเองเรียนรู้หรือฝึกฝนได้ รวมทั้งหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

4. หมั่นกระตุ้นพลังใจที่สร้างสรรค์ของตนเอง เพื่อสร้างความมุ่งมั่นให้กับตนเองที่จะก้าวข้ามปัญหาไปให้ได้

5. ส่งต่อพลังใจที่สร้างสรรค์ให้ผู้อื่น ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในครอบครัวที่ผ่านมาได้ เพื่อให้ผู้อื่นเกิดพลังใจ หรือแม้แต่การให้ก็เป็นการสร้างพลังใจที่ดีเช่นกัน

ย้ำว่าหากรู้สึกหมดพลัง เครียดไปต่อไม่ไหวอย่าเก็บไว้คนเดียว ขอให้หาคนปรึกษา หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323

ทางด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์ฯในฐานะจิตแพทย์ ระบุไว้ว่า สถิติการฆ่าตัวตายในช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 ของไทยอยู่ที่ 8.3 ต่อแสนประชากร สำหรับในช่วงวิกฤติโควิด-19 เรามีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม เขา ย้ำว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความสัมพันธ์กับโควิด-19 ที่กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด และต้องเป็นมาตรการระดับประเทศไม่ใช่แค่ระดับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

และในวันนี้ ( 1 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ ระบุอีกหลังถูกโจมตี “ไม่แยแส” คนฆ่าต้วตาย ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตทุกท่าน  และมองว่า “การฆ่าตัวตาย” เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในวิชาชีพ การเสียชีวิตทุกเรื่องสำคัญทั้งหมด ฐานะแพทย์ ต้องช่วยทุกคน ให้มากที่สุด โดยเราพยายามเรียนรู้ และหาวิธีการช่วยเหลือ 

ทั้งนี้จะมีสัญญาณการฆ่าตัวตาย นำมาก่อน ทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน ที่สำคัญ การพยายามทำร้ายตัวเองของเขา อย่าไปบอกว่า “เรียกร้องความสนใจ” เขา Cry for help เป็นการ ” ร้องขอคาามช่วยเหลือ” อย่างไรก็ตามทุกๆข้อความที่เข้ามายังศบค. เรารับฟังทุกเรื่อง และนำมาสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาแก้ไข ผมฐานะจิตแพทย์ จะประกอบทุกเรื่องเข้ามา สู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา

ในส่วนของกรมสุขภาพจิตเอง ก็มีทีม MCATT ทั่วประเทศ ที่จะเข้าไปคุย กับญาติ และเก็บข้อมูล หาทางเยียวยาช่วยเหลือรายบุคคล และนำมาสู่กระบวนการจัดการในภาพกว้างต่อไป

5b15f28949fb77e240ec5cbc6fc00ffb

 

Avatar photo