World News

‘อิสราเอล’ ไฟเขียวใช้ระบบติดตามมือถือประชาชน สกัด ‘โควิด-19’

นายกรัฐมนตรีอิสราเอล “เบนจามิน เนทันยาฮู” มีคำสั่งให้ “ชิน เบท” (Shin Bet) หน่วยงานด้านความมั่นคงภายในประเทศ ใช้ข้อมูลระบุตำแหน่งบนมือถือ ช่วยต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และแจ้งให้บุคคลอื่นๆ รับทราบว่า ใครควรที่จะกักโรคบ้าง

isssss

สภาอิสราเอลลงมติเห็นชอบให้ ชิน เบท ใช้ข้อมูล (data) ที่ทางหน่วยงานเก็บรวบรวมมาจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของอิสราเอล อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2545 เป็นเวลา 30 วัน เพื่อส่งข้อความ การแจ้งให้คนที่อาจติดเชื้อไวรัส กักโรคตัวเองในทันที รวมทั้งส่งข้อความเตือนคนรอบข้างที่ใกล้ชิด หรือเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น อันเป็นวิธีการที่รัฐบาลระบุว่า จะช่วยเร่งกระบวนการกักโรคได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอิสราเอล ค้านว่ามาตรการนี้เป็นอันตรายต่อประชาชนมากกว่าปกป้อง เพราะมาตรการลักษณะนี้มีไว้ให้หน่วยข่าวกรองอิสราเอลติดตามตวามเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย

“เราต้องรักษาสมดุล ระหว่างสิทธิส่วนบุคคล กับความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลกำลังทำเช่นนี้อยู่” นายเนทันยาฮู ตอบโต้ต่อความกังวลดังกล่าว

มาตรการติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ในการกู้วิกฤติโควิด-19 และแม้ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก ที่รัฐบาลนำระบบติดตามบนมือถือมาตามรอยประชาชน เพื่อเป้าหมายทางด้านสุขภาพ แต่หลายประเทศก็เคยนำข้อมูลทำนองเดียวกันนี้มาใช้สำหรับการโฆษณา และบังคับใช้กฎหมายมาแล้ว

ล่าสุด อิสราเอล มีผู้ติดเชื้อมากถึง 427 คน  และมีการบังคับใช้มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส เช่น การปิดโรงเรียน ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งจำกัดการอยู่รวมกันเกิน 10 คนในพื้นที่เดียวกัน

ส่วนที่อินเดีย ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายแห่งในอินเดีย ใส่คำเตือนสถานการณ์โคโรนาไวรัสในประเทศ ความยาว 30 วินาที แทนเสียงเรียกเข้า หรือ ริงโทน เพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ทุกครั้งที่ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อินเดียจำนวนมากแสดงความไม่พอใจในระบบดังกล่าว เนื่องจากเสียงของระบบคำเตือนโคโรนาไวรัสนั้นเริ่มต้นด้วยเสียงไอ สร้างความรำคาญและกระอักกระอ่วนในการใช้งาน

ที่มา :  VOA

Avatar photo