World News

‘กฎระเบียบแข่งขันไทย’ อุปสรรคใหญ่ ‘เทสโก้’ ขายกิจการเอเชียได้ราคาไม่ถึงเป้า

แผนการขายสินทรัพย์ในเอเชียของ “เทสโก้” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษ ที่ประเมินว่าอาจทำเงินได้มากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์นั้น มีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามความตั้งใจ ผลจากกฎระเบียบด้านการแข่งขันของไทย

GettyImages 1187901889

บีบีซี รายงานว่า เชนซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ มีสาขาในไทย และมาเลเซีย รวมแล้วเกือบ 2,000 สาขา ซึ่งกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 3 รายของไทย แสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ชนะการประมูลซื้อกิจการดังกล่าว อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบ จากคณะกรรมการต่อต้านการผูกขาดตลาดชุดใหม่ของไทย ที่ออกมาบอกว่า ผู้ชนะประมูลอาจครองตลาดค้าปลีกในประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง

สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของไทย กล่าวว่า มูลค่า และขนาดของการซื้อกิจการในครั้งนี้ หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ซื้อสินทรัพย์ของเทสโก้ไป อาจลงเอยด้วยการมีร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 50% ของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย

ตามกฎข้อบังคับการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของไทยนั้น ระบุว่า หากการควบรวมกิจการ ทำให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ครองส่วนแบ่งในตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะต้องยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการการค้าเป็นธรรมของไทยก่อน  และถ้าหากการซื้อกิจการ มีการดำเนินการที่ละเมิดกฎหมาย ก็อาจจะโดนปรับในสัดส่วนที่ไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าข้อตกลงซื้อขายกิจการกัน

ทั้งนี้ บรรดาบริษัทที่แสดงความสนใจจะซื้อกิจการเทสโก้นั้น ต่างเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ดังนั้น การเผชิญกับความเสี่ยงของการผูกขาดตลาดจึงอาจเกิดขึ้นได้ในหลายระดับ ซึ่งบีบีซี ระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) เครือเซ็นทรัล และเครือทีซีซี น่าจะเข้าใจถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในการที่จะลงแข่งขันซื้อกิจการของเทสโก้

ท่าทีข้างต้นเกิดขึ้น หลังมีรายงานมาตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วว่า เทสโก้กำลังพิจารณาที่จะขายร้านค้าปลีกเกือบ 2,000 สาขาในไทย และมาเลเซีย เพราะได้รับความสนใจจากผู้ประมูลที่มีศักยภาพจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อออกมา ซึ่งกฎข้อบังคับต่อต้านการผูกขาดตลาดนี้ อาจหมายความว่า เทสโก้อาจจะขายสินทรัพย์ไม่ได้ราคาตามที่ต้องการ

รายงานเมื่อปี 2561 ของยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ของเทสโก้ในเอเชีย อยู่ที่ไทย ตลาดที่เทสโก้ครองส่วนแบ่งในภาคของชำที่ราว 28% และดำเนินงานภายใต้แบรนด์เทสโก้ โลตัส

เฉพาะธุรกิจในไทยนั้น คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ราว 6,000 – 8,000 ล้านดอลลาร์ และอาจทำให้ผู้ที่ชนะการประมูลซื้อกิจการเข้าถึงซัพพลายเชน ที่เป็นกลุ่มเกษตรกรของไทยได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะเปิดทางให้สามารถกำหนดราคาทั้งในฝั่งของซัพพลายเออร์ และผู้ซื้อสินค้าได้เอง

ทั้งนี้ กำหนดการยื่นประมูลราคาซื้อกิจการดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นเร็วสุดภายในวันนี้ (15 ม.ค.) ตามเวลาในอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องยื่นเรื่องต่อสำนักงานต่อต้านการแข่งขันของไทยด้วย

“ไม่ว่าผู้ยื่นประมูลจะเป็นใครก็ตาม อันดับแรก ต้องได้รับอนุญาตจากเราก่อน เพื่อรับประกันว่า พวกเขาจะดำเนินการตรวจสอบสถานะกิจการ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่การเข้าซื้อกิจการของพวกเขาจะมีต่อภาคค้าปลีก ทั้งยังเพื่อรับประกันว่า การซื้่อกิจการนี้จะไม่ทำให้เกิดการผูกขาดกิจการ หรือต่อต้านการแข่งขันขึ้นมา” สกนธ์ ระบุ

เขายืนยันด้วยว่า มีบริษัทบางรายที่ปรากฎชื่ออยู่ในข่าวได้ดำเนินการติดต่อกับทางสำนักงานของเขา เกี่ยวกับการยื่นประมูลซื้อกิจการ และกระบวนการในการอนุมัติ

“พวกเขาต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการที่ต้องเตรียมการเอาไว้ ผู้ประมูลสามารถยื่นราคาซื้อกิจการของเทสโก้ได้อย่างราบรื่น ถ้าหากเขามีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่ทางสำนักงานกำหนดไว้”

ทางด้าน พรนภา เหลืองวัฒนกิจ จากเบเกอร์แอนด์แมคเคนซี ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วยร่างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาดของไทย กล่าวว่า ในอดีตนั้น ในประเทศไทยจะมีความกังวลถึงเรื่องอิทธิพลทางการเมือง กับกลุ่มบริษัทที่มีคอนเนคชันดี ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถกำหนดการตัดสินใจทางธุรกิจให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการได้

แต่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่นี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ถือเป็นองค์กรอิสระ และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานนี้ดำเนินงานได้ค่อนข้างจะแข็งแกร่ง และจับตามองข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่นี้อย่างใกล้ชิด

กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ยังห้ามนักการเมือง ธุรกิจ หรือบุคคลในรัฐบาล มาเป็นบอร์ดบริหารของทุกบริษัทด้วย

บีบีซี ยังรายงานอ้างนักวิเคราะห์ว่า เรื่องสำคัญอย่างแรกที่เทสโก้จะต้องทำคือ ผลักดันให้การขายกิจการนี้ ผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบในไทยก่อน หากต้องการที่จะขายกิจการให้ได้ในราคาที่ต้องการ

Avatar photo