Branding

เจาะลึกขุมพลัง ‘ซีพี-เซ็นทรัล-ทีซีซี’ ทาบซื้อ ‘เทสโก้โลตัส’

หลังจากมีข่าวมาเป็นระลอก ว่า เทสโก้โลตัส ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจโดยจะมุ่งให้ความสำคัญต่อธุรกิจในประเทศอังกฤษเป็นหลัก อันนำมาซึ่งการขายกิจการในต่างประเทศ และล่าสุดมีข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเทสโก้โลตัสในประเทศไทย ที่กลุ่มทุนใหญ่ที่สนใจทาบซื้อกิจการเทสโก้โลตัส 3 ราย นั่นคือ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มทีซีซี ในเครือไทยเบฟเวอเรจ และกลุ่มเซ็นทรัล

แน่นอนว่า ความน่าสนใจของเทสโก้โลตัส ย่อมอยู่ที่การมีเครือข่ายธุรกิจถึง 2,000 สาขา (ข้อมูลจากเว็บไซต์เทสโก้โลตัส) ภายใต้ฟอร์แมท หรือรูปแบบที่หลากหลายถึง 5 รูปแบบ ได้แก่ เอ็กซ์ตร้า, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ดีพาร์ทเมนท์สโตร์, ตลาด และ เอ็กซ์เพรส ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างบิ๊กซี ซูเปอร์สโตร์ ที่มี 1,379 สาขา ใน 3 รูปแบบคือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต, บิ๊กซี มาร์เก็ต และมินิ บิ๊กซี นอกจากนี้ ยังมีช่องทางออนไลน์ผ่านเทสโก้ โลตัส ช้อป ออนไลน์ และมาร์เก็ตเพลส เช่น ลาซาด้า อีกด้วย

เทสโก้ 1

นอกจากนี้ ผลประกอบการของ เทสโก้ โลตัส ยังเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยหากพิจารณาผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า

  • ปี 2557 รายได้ 204,191 ล้านบาท กำไร 9,089 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 207,602 ล้านบาท กำไร 4,695 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 208,119 ล้านบาท กำไร 8,320 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 218,163 ล้านบาท กำไร 9,117 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 198,316 ล้านบาท กำไร 9,628 ล้านบาท

 

image big 5deddac8892e0

จากจำนวนสาขาและรายได้ของเทสโก้โลตัส ย่อมทำให้กลายเป็นเค้กอันหอมหวาน ที่นักลงทุนหมายปอง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่มีทุนหนา สายป่านยาว และมองเห็นโอกาสที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ได้ ซึ่งทั้ง ซีพี ทีซีซี และเซ็นทรัล ต่างมีอยู่ครบ

เริ่มจาก ซีพี ที่ปัจจุบัน ต่อยอดธุรกิจค้าปลีกที่ครองตลาดถึงสองเซ็กเมนต์ นั่นคือ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกเซ็กเมนต์คอนวีเนียนสโตร์ มีรายได้ในปี 2561 ถึง 527,859 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 20,929 ล้านบาท และ สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เจ้าของธุรกิจขายส่ง แบรนด์ แม็คโคร ซึ่ง ซีพี ทุ่มงบกว่า 1.88 แสนล้านบาท ซื้อกิจการในปี 2556 โดยปี 2561 สยามแม็คโคร มีรายได้ 155,917 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,378 ล้านบาท

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ซีพี จะอยากได้เทสโก้โลตัสมาครอบครอง เพราะนั่นหมายความว่า จะทำให้ซีพี ขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจถึง 3 เซ็กเมนต์ นั่นคือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอนวีเนียนสโตร์ และค้าส่ง  หากรวมทั้ง 3 เซ็กเมนต์นี้ ย่อมทำให้ซีพีกลายเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกได้ชนิดทิ้งห่าง

7 11

 

มาดูฝั่ง เซ็นทรัล กันบ้าง ปัจจุบันเซ็นทรัลถือเป็นขาใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกเซ็กเมนต์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า แบรนด์ เซ็นทรัล และ โรบินสัน, ซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ ท็อปส์,  คอนวีเนียนสโตร์แบรนด์ แฟมิลี่มาร์ท และสเปเชียลตี้สโตร์ อาทิ ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย, ไทวัสดุ ปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้า และร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก รวม 1,979 แห่ง ครอบคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังขยายธุรกิจไปปักหมุดในประเทศเวียดนาม โดยซื้อกิจการบิ๊กซี ในเวียดนาม พร้อมผุดห้างสรรพสินค้าแบรนด์ “Go” จนขึ้นเเท่นเป็นเบอร์ 2 ในตลาดค้าปลีกของเวียดนาม และขยายไปยังประเทศอิตาลีด้วย โดยแบรนด์ รีนาเชนเต สรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา  มีรายได้รวมกว่าในธุรกิจค้าปลีกกว่า 240,297 ล้านบาท

ปัจจุบันเซ็นทรัล แบ่งฝั่งธุรกิจค้าปลีกออกเป็นภายใต้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยฯ โดยได้รับอนุมัติไฟลิ่งจากตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว  คาดว่าจะทำการซื้อขายหุ้นไอพีโอได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะทำให้ซีอาร์ซี มีเงินจากการระดมทุนมาขยายธุรกิจอีกก้อนใหญ่ จากการขายหุ้นจำนวน 1.8 พันล้านหุ้น คาดราคาหุ้นไว้ที่ 40-48 บาทต่อหุ้น

เซ็นทรัล

 

จะเห็นได้ว่า พอร์ตธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล แตกแขนงครอบคลุมไปเกือบทุกเซ็กเมนต์ ขาดเพียงอย่างเดียวคือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต  ในช่วงที่คาร์ฟูร์ ประกาศขายกิจการในเมืองไทย เซ็นทรัล เองก็สนใจเช่นกัน แต่ กลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ของเครือไทยเบฟเวอเรจ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี คว้าไปครอง ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะคว้ากิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกครั้งจาก เทสโก้โลตัส เชื่อแน่ว่ากลุ่มเซ็นทรัล ต้องลงสนามสู้ศึกเพื่อช่วงชิงมาเติมเต็มพอร์ตแน่นอน เพราะนั่นจะทำให้เซ็นทรัลประกาศได้อย่างมั่นใจว่าเป็นผู้นำในธุรกิจนี้อย่างชัดเจน

ปิดท้ายกันที่ กลุ่มทีซีซี ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมอบหมายให้บริษัทในเครืออย่าง เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลธุรกิจค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต หลังจากคว้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ในไทยไปครอง ปัจจุบัน ทีซีซี จะดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อประกอบกิจการค้าปลีก 10 โครงการ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ช้อปปิ้งมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต รวมทั้งอสังหาฯ เพื่อประกอบกิจการการค้าส่ง โครงการที่มีชื่อเสียง เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

ในส่วนของ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะดูแลธุรกิจ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่ปัจจุบันมีฟอร์แมทหลากหลาย ได้แก่ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 147 สาขา, เอ็กซ์ตร้า 15 สาขา, พลาซ่า 1 สาขา, ฟู้ดเพลส 3 สาขา,  มาร์เก็ต 60 สาขา และ มินิบิ๊กซี 671 สาขา รวมทั้งมีร้านขายยาเพรียว 138 สาขา

บิ๊กซี

นอกจากนี้ บิ๊กซี ยังได้เดินหน้าขยายสาขาในต่างประเทศ โดยเน้นกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ ในประเทศลาว ร่วมทุนกับเอ็มพอยต์มาร์ท เปลี่ยนชื่อเป็น มินิบิ๊กซี 44 สาขา และในปี 2563จะเปิดบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา และมินิ บิ๊กซี 20 สาขาในลาว ส่วนในเวียดนาม เปิดแบรนด์ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 18 สาขา ปีหน้าจะขยายเพิ่ม 3 แห่ง รวมทั้งอยู่ระหว่างพัฒนาโมเดลใหม่ ฟู้ดเซอร์วิส รวมทั้งยังมีร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แบรนด์ บีสมาร์ท 107 สาขา

สำหรับในกัมพูชา ปีนี้ได้เปิด บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ปอยเปต เป็นสาขาแรกในกัมพูชา นอกจากนี้ กลุ่มบีเจซี เพิ่งเปิดสำนักงานใหญ่ใน เมียนมา เพื่อทำธุรกิจเทรดดิ้งสินค้า และจะต่อยอดไปสู่การหาพื้นที่เปิดห้างค้าปลีกเพิ่มเติม

ดังนั้น หาก ทีซีซี ในนาม เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ สามารถคว้า เทสโก้โลตัสมาครองได้ จะทำให้เบอร์ลี่ฯ กลายเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเบ็ดเสร็จเลยทีเดียว แต่ประเด็นนี้ สิ่งที่เป็นเงื่อนไชของกลุ่มเบอร์ลี่ฯคือ อาจเข้าข่ายผูกขาดได้ เนื่องจากปัจจุบันค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตมีเพียง 2 แบรนด์คือ บิ๊กซี และ เทสโก้โลตัสเท่านั้น

เทสโก้1

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะได้เทสโก้โลตัสไปครอง (หากเทสโก้ตัดสินใจขายจริง) ทุกรายต่างดีดลูกคิดรางแก้วมาแล้วแน่นอนว่าต้อง “คุ้มค่า” กับเม็ดเงินในการซื้อกิจการที่คาดกันว่าไม่ต่ำกว่า 8,000 – 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 272,430 ล้านบาท โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจค้าปลีก ที่มีอยู่เดิมให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

แต่ประเด็นหนึ่งที่เชื่อว่า กลุ่มทุนทุกรายต่างมองเห็นเหมือนกันคือ ปัจจุบัน ธุรกิจในเซ็กเมนต์ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” จะไม่ใช่ธุรกิจดาวรุ่งอีกต่อไป เห็นได้จากการเติบโตที่ลดลงของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 2.7%  เป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง จากปี 2561 เติบโต 3% และปี 2559 เติบโต 3.2% ทำให้ต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบว่า จะสามารถต่อยอดสร้างการเติบโตและรายได้อย่างไร หลังจากซื้อกิจการ

Avatar photo