COLUMNISTS

ส่อง ‘ที่ปรึกษาด้านอาชีพ’ ช่วยผู้คนค้นหาเป้าหมายอาชีพและพัฒนาตน (จบ)

Avatar photo
Head of Faculty สลิงชอท กรุ๊ป
2125

เมื่อเดือนก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับอดีตเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง เราได้ทำงานร่วมกัน เมื่อราวๆ สิบปีก่อน หลังจากที่เขาเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ

เขาเล่าให้ฟังว่า เพิ่งยื่นใบลาออกจากงานประจำที่ทำมาหลายปีในบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง เพื่อไปเรียนต่อปริญญาโท (อีกใบ) แต่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาครอบครัว เขาดีใจมากที่สอบติด แม้จะต้องทิ้งความก้าวหน้าในองค์กรระดับโลก เงินเดือนและตำแหน่งระดับสูง

ตลอดเวลาที่ได้คุยกัน เขาเล่าถึงความฝันและความต้องการในการเปลี่ยนสายอาชีพ ที่สะท้อนถึงความเชื่อ (Beliefs) และ ค่านิยม (Values) ที่บ่งบอกถึง “Calling” อย่างชัดเจน

system 71228 640

จากตอนที่แล้ว ที่กล่าวถึงบทความหนึ่งใน https://www.forbes.com ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของ Dr. Amy Wrzesniewski ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การ จาก Yale School of Management ซึ่งทำการศึกษาเพื่อค้นหาว่าคนเราให้นิยามเกี่ยวกับงานอย่างไร แล้วแบ่งคำตอบที่ได้เป็น 3 กลุ่มหลัก นั่นคือ Job, Career และ Calling

โดย Calling เป็นคำตอบที่ได้จากกลุ่มคนที่พูดถึงประสบการณ์ทำงานของตนที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับคุณค่าและความเชื่อที่ตัวเองมี งานที่ทำอยู่สะท้อนตัวตน (Identity) เปี่ยมไปด้วยพลัง กระตือรือร้น มีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม และเต็มใจที่จะทำงานอย่างทุ่มเท จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะรู้สึกพึงพอใจกับทั้งการงานและชีวิตของตนเองมากที่สุด

แต่ก่อนที่คุณผู้อ่านจะผลีผลามตัดสินใจลาออกไปตามหา Calling ของตัวเอง ขอชวนมาสำรวจงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ก่อนว่าจัดอยู่ในกลุ่มใด ด้วยคำถามของ Dr. Wrzesniewski ทั้ง 4 ข้อ คือ

1. ส่วนใดของงานที่มีความหมาย (meaningful) ต่อตัวฉันมากที่สุด

2. เมื่อสิ้นสุดวันทำงาน ฉันรู้สึกพึงพอใจไหม

3. ฉันจะทำงานในตำแหน่งนี้ต่อไปไหม หากว่าไม่ได้รับเงินเดือน หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ

4. ฉันต้องการที่จะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพที่ฉันเลือก หรือฉันพอใจแล้วที่จะอยู่ในจุดที่กำลังอยู่นี้

อันที่จริงแล้วไม่มีงานประเภทใดที่ถูกต้อง ดีกว่างานอื่น ทุกงานมีเส้นทางให้เติบโต ตราบใดที่งานนั้นสอดคล้องกับบุคลิกภาพ ค่านิยม ความสนใจ (คุณสามารถย้อนกลับไปอ่านเพิ่มเติมได้ใน ส่อง ‘ที่ปรึกษาด้านอาชีพ’ ช่วยผู้คนค้นหาเป้าหมายอาชีพและพัฒนาตน (2)

อย่างไรก็ตาม Dr. Wrzesniewski ได้แนะนำ เคล็ดลับ 3 ข้อให้คุณได้ลองทำดู เพื่อปรับเปลี่ยนงานที่ทำไปวัน ๆ (Job) ให้กลายเป็นอาชีพ (Career) ที่มี Calling ได้ ดังนี้

  • เปลี่ยนมุมมองของคุณ (Change Your Outlook)

ถ้าตอนนี้ต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ มีแต่คำพูดด้านลบกับตัวเอง (Negative Self Talk) ลองเปลี่ยนทัศนคติ จากที่มองแค่สิ่งที่ต้องทำให้เสร็จ ๆ ไป เป็นการให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แท้จริงของงานนั้นว่า ช่วยผลักดันให้ธุรกิจหรือองค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างไร

อันที่จริงแล้ว ไม่ว่างานของคุณจะดูธรรมดาแค่ไหน ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรได้ทั้งนั้น มุมมองนี้อาจช่วยให้คุณเห็นเป้าหมายใหม่ และสร้างชีวิตใหม่ให้กับการงานเดิม ๆ ของคุณได้

  • ใช้จุดแข็งของคุณให้โดดเด่น (Play to Your Strengths)

คุณจะรู้สึกพอใจในงานเมื่อคุณใช้จุดแข็งในการทำงาน และเมื่อคุณพบงานที่ได้ใช้จุดแข็งของคุณ แปลว่า คุณเข้าใกล้การค้นพบ Calling ของคุณแล้ว

Dr. Wrzesniewski ได้สร้างคำศัพท์ใหม่ว่า “Crafting” หมายถึง การออกแบบหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของคุณมากขึ้น การจะทำเช่นนั้นได้ คุณต้องเริ่มจากการเติมคำลงในช่องว่างในคำถามที่ว่า “ส่วนที่ดีที่สุดในวันทำงานของฉันคือตอนที่ฉัน……..”

  • มองออกไปนอกตัว (Look Outside Yourself)

ลองให้ความสนใจกับการใช้พลังงานของคุณในการสร้างเครือข่าย (Connections) กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน รวมทั้งกับคนต้นแบบที่กำลังอยู่ในเส้นทางที่คุณชื่นชม การสร้างสัมพันธภาพจะช่วยลดความน่าเบื่อของวันธรรมดาและให้มุมมองที่แตกต่างไปในเส้นทางสายอาชีพของคุณของคุณ คุณไม่มีทางรู้ว่า เมื่อไหร่ที่คุณจะบังเอิญค้นพบสิ่งต้องการ และโอกาสต่อไปของคุณจะมาจากที่ใดและจะนำคุณไปในทิศทางไหน

เมื่อคุณได้อ่านจนถึงบรรทัดนี้แล้ว ขอเชิญลองตอบคำถามทั้ง 4 คำถาม และนำ 3 เคล็ดลับนี้ไปทดลองใช้กัน เผื่อว่าคุณจะได้เห็นโลก (การทำงาน) ที่เปลี่ยนไป จากใจ (มุมมองใหม่) ที่เปลี่ยนแปลง