COLUMNISTS

ส่อง ‘ที่ปรึกษาด้านอาชีพ’ ช่วยผู้คนค้นหาเป้าหมายอาชีพและพัฒนาตน (3)

Avatar photo
Head of Faculty สลิงชอท กรุ๊ป
500

เมื่อพูดถึง “เช้าวันจันทร์” หลายคนกว่าที่จะลืมตาตื่น ฝืนพาตัวเองลุกขึ้นจากเตียงได้ อาจมีความคิดวนเวียนในหัวว่าจะลางานเลยดีไหม จนมีกลุ่มอาการหนึ่งที่เรียกว่า “Monday Sickness” บอกถึง ความเจ็บป่วยไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเช้าวันจันทร์ (หรืออาจเป็นวันอื่น หลังจากที่คุณได้หยุดงานไป 1-2 วัน)

learn 3069053 640

สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงความเชื่อ เพราะ มีรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษว่า “การลามากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดเกิดขึ้นในวันจันทร์” ยิ่งไปกว่านั้น บางคนมีอาการที่เรียกว่า “Sunday Night Blues” หรือ “หดหู่ในคืนวันอาทิตย์” นั่นคือ มีอาการเศร้า ห่อเหี่ยว หมดสนุกตั้งแต่ก่อนถึงวันทำงานวันแรกของสัปดาห์

ไม่ว่าจะเป็น “Monday Sickness” หรือ “ Sunday Night Blues” มีที่มาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การที่เราต้องไปทำงาน โดยไม่รู้เป้าหมายของชีวิต หรือยังไม่พบกับอาชีพที่เราพึงพอใจทั้งทางการเงิน และเติมเต็มในเชิงคุณค่าและความรู้สึก

บทความหนึ่งใน https://www.forbes.com ที่กล่าวถึงงานวิจัยของ Dr. Amy Wrzesniewski ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การ จาก Yale School of Management ที่ทำการศึกษาเพื่อค้นหาว่าคนเราให้นิยามเกี่ยวกับงานอย่างไร โดยคำตอบที่ได้มีการแบ่งกลุ่มตามความหมายหลัก ๆ ออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ Job, Career และ Calling

Job

เป็นกลุ่มคนที่มองงาน เป็นเพียงแหล่งรายได้ แลกแรงกายแรงใจเพื่อทำงานให้ได้รับค่าตอบแทน อาจเป็นค่าจ้างรายชิ้นงาน รายวัน รายเดือนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการหาเลี้ยงตัวเอง ครอบครัว ใช้หนี้สิน เป็นหลัก โดยไม่ได้คิดถึงความก้าวหน้าในอาชีพ คิดเพียงแต่ว่าทำงานเสร็จไปวัน ๆ หรือตามหน้าที่ได้รับคำสั่ง

นอกจากนี้ อาจมองว่างานประจำเป็นของตาย แล้วทุ่มเทให้งานเสริมหรืออาชีพที่สองหรือสามมากกว่างานประจำ หรืออาจให้ความสนใจที่ครอบครัว เพื่อนฝูง และงานอดิเรกมากกว่าการมองหาความก้าวหน้าในอาชีพ

ดังนั้น ถ้าคุณไม่เห็นว่างานของคุณเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ พัฒนาตนเองและงาน ต่อยอดความรู้ ก็อาจเป็นสัญญาณว่า คุณมีมุมมองแบบนี้ต่องานของคุณ

adult education 2706977 640

Career

เป็นกลุ่มคนที่มองงานเป็นอาชีพ เป็นการทุ่มเทแรงกาย แรงใจกับภารกิจที่คุณทำเพื่อตัวเองและหรือเพื่อผู้อื่น จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ และได้รับค่าตอบแทนด้วย

สิ่งที่แตกต่างจากมุมมองแบบแรก คือ การมีแรงผลักดันที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพ แสวงหาโอกาสเพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน บุคคลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทุ่มเท พยายามอย่างมากในการไปสู่จุดที่ดีกว่า เช่น ต้องการการฝึกอบรมพัฒนาความรู้ ทักษะความสามารถของตน เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เติบโตในหน้าที่การงาน เป็นต้น

บุคคลที่มีมุมมองลักษณะนี้ มักจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลสำหรับอนาคตในการประกอบอาชีพของตน มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน มีความสุข เพลิดเพลินไปกับการกำหนดเป้าหมายและการแข่งขันในการทำงาน

Calling

เป็นกลุ่มคนที่กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานของตนที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับคุณค่า (Values) และความเชื่อที่ตัวเองมี งานที่ทำอยู่สะท้อนตัวตน (Identity) เปี่ยมไปด้วยพลัง กระตือรือร้น มีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม และเต็มใจที่จะทำงานอย่างทุ่มเท จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะรู้สึกพึงพอใจกับทั้งการงานและชีวิตของตนเองมากที่สุด

ในตอนหน้า จะมีชุดคำถามชวนสำรวจ ว่างานที่เราทำอยู่ในปัจจุบันน่าจัดอยู่ในกลุ่มใด มีแง่มุมใดและทำอย่างไรที่จะทำให้งานของเรากลายเป็นอาชีพที่มี Calling สร้างความพึงพอใจให้ชีวิตโดยรวม ลดอาการ Monday Sickness ของหลาย ๆ คน ที่อาจจะไม่เกิดขึ้นแค่เพียงแค่เช้าวันจันทร์แต่เกิดขึ้น (เกือบ) ทุกวัน