COLUMNISTS

ส่อง ‘ที่ปรึกษาด้านอาชีพ’ ช่วยค้นหาเป้าหมายอาชีพ-พัฒนาตน (1)

Avatar photo
Head of Faculty สลิงชอท กรุ๊ป
1177

จากรายงานเรื่อง The Future of Jobs เมื่อปี 2018 ของ World Economic Forum มีการระบุถึงงานที่จะเปลี่ยนไปในปี 2022 ว่าจะมีตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นอีก 133 ล้านตำแหน่ง

the future of jobs report 2018 1 638

งานที่ติด 10 อันดับแรก จะเป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ เช่น Data Analytics and Data Science, AI and Machine Learning, Big Data, Digital Transformation เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีงานอีกราว 75 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นงานในระดับเสมียน งานสนับสนุนอื่น ๆ จะหายไป

ตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ รวมถึง ความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนภาพไปในแนวทางเดียวกันกับทิศทางของธุรกิจ เพราะธุรกิจบางประเภทที่เคยรุ่งโรจน์กลับถูกทำให้สั่นคลอน เช่น ธุรกิจค้าปลีก ห้างร้านที่มีคนมาจับจ่ายใช้สอย ทำรายได้ดีในอดีต แต่การค้าออนไลน์กำลังเข้ามาแทนที่ ทำรายได้ด้วยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือภาคธนาคารที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เน้นพัฒนาอีแบงกิ้ง และลดจำนวนสาขา ในขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจฟินเทคทยอยเปิดตัว

ในยุคที่เราต่างรู้กันว่า คนที่เห็นโอกาส สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นกระแสของสตาร์ทอัพ ที่ผุดขึ้นจากแนวคิดที่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาของโลกใบนี้ มีการระดมทุน หรือร่วมลงทุนจากองค์กรใหญ่ ที่จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ มาสนับสนุนอย่างเต็มที่

โลกของการทำงาน คนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย พร้อมลุย เห็นภาพฝันของตัวเองที่ชัดเจน ต้องการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องการทำงานที่มีคนอื่นกำหนดไว้ให้ แต่จะออกแบบงานอาชีพที่ใช่ให้กับตัวเอง ขณะที่หลายคน ตั้งใจเรียนให้เก่ง จบให้สูง เกรดสวย จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อต้องเลือกงาน มักยังสับสนว่า หน้าตาอาชีพที่ใช่เป็นแบบไหน บางคนที่ทำงานในองค์กร แสดงศักยภาพ มีผลงานโดดเด่น แถมทำงานได้หลายหน้าที่ ยิ่งได้รับโอกาสในชีวิต ได้รับข้อเสนองานใหม่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

แต่โจทย์คือ ตัวเองเหมาะกับงานอะไรกันแน่ บางคนทำงานมาเป็นสิบปี ยังตั้งคำถามกับตัวเองทุกวันว่า ฉันอดทนทำงานนี้ไปเพื่ออะไร หรือเพราะยังไม่รู้ว่างานที่ตัวเองมีใจ มีไฟ อยากลงแรงให้งานแบบไหน จึงยังอดทนทำไปแบบหมดใจ บางคนคิดว่าตนเองช่างโชคดีได้ทำงานกับองค์กรที่มั่นคง มีงานที่ชอบแล้ว แต่ในวันที่ความเปลี่ยนแปลงมาเยือน องค์กรมีการปรับโยกย้าย ลดคน ตัวเองอาจโดนให้เปลี่ยนงาน หรืออาจถูกให้ออก จะตั้งหลักใจ ตั้งเป้าใหม่ เลือกอาชีพไหนให้เหมาะกับตัวเอง

บางคนครอบครัวมีความจำเป็น ต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก ดูแลบุพการีในวัยชรา ยามที่ท่านป่วยหนัก ก็อาจเป็นจุดหักเหที่ต้องเปลี่ยนไปทำงาน full-time หรือฉันจะเลือกเป็นฟรีแลนซ์ แม้กระทั่งผู้ที่ทำงานจนใกล้เกษียณ อาจมีคำถามว่าฉันจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเกษียณจากงานประจำ ฉันจะทำงานอะไรต่อดีหลังจากนั้น เพราะงานไม่ได้ให้เพียงค่าตอบแทน แต่เป็นความภูมิใจ การสร้างคุณค่าให้ตัวเองและสังคม รวมทั้งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะได้ทำในสิ่งที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ

training 2874597 640

ในวันที่การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานขึ้นอยู่กับทักษะ ความสามารถ และการสร้างผลงานเชิงประจักษ์ ในขณะที่วุฒิการศึกษาสำคัญน้อยลงเรื่อย ๆ การทำความเข้าใจ รู้จัก รู้ใจตัวเอง รวมทั้งค้นหาตัวเลือกอาชีพ (Career Choices) ที่เป็นไปได้ กำหนดเป้าหมายอาชีพของตนเอง แล้ววางแผนการพัฒนาตนเอง สะสมความรู้ ทักษะ ประสบการณ์เพื่อให้พร้อมเมื่อโอกาสมาถึง เปรียบเหมือนเป็นการวางเส้นทางอาชีพ (Career Path) และกำหนดแผนพัฒนาส่วนบุคคล (Individual Development Plan: IDP) ด้วยตัวเอง

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ในโลกของการทำงานเหล่านี้ ได้อย่างชัดเจนและมั่นใจ อาจต้องอาศัยเพื่อนคู่คิดที่เป็นมืออาชีพในด้าน Career Coaching/Career Counseling โดยบทความในตอนต่อ ๆ ไป จะเล่าให้ฟังต่อไปว่า นักวิชาชีพนี้มีแนวคิด ใช้แนวทาง และอาศัยเครื่องมืออะไรบ้าง